ที่ผ่านมา การนอนหลับคือพฤติกรรมที่พบในสัตว์ที่มีระบบประสาทส่วนกลาง (central nervous system) เท่านั้น แต่งานวิจัยล่าสุดซึ่งตีพิมพ์ในเดือนกันยายน 2017 เผยให้เห็นว่า แมงกะพรุนซึ่งไม่มีระบบประสาทส่วนกลาง (มีเพียงร่างแหประสาท) ก็มีพฤติกรรมที่ ‘ดูคล้ายการนอนหลับ’ เช่นกัน !

แต่การจะสรุปว่าพวกมันนอนหลับจริงหรือไม่ นักวิจัยได้ทดลองกับ ‘แมงกะพรุนกลับหัว’ (Cassiopea sp.) เพื่อพิสูจน์ว่า พฤติกรรมที่ ‘ดูคล้ายว่าหลับ’ นี้ ตรงตามเกณฑ์ที่เรียกว่าการนอนหลับหรือไม่

เกณฑ์ที่ 1 : กิจกรรมต่างๆ ลดลง แต่สามารถเรียกคืนกลับมาในอัตราปกติได้อย่างรวดเร็ว (ทำให้แตกต่างจากการนอนป่วยโคม่า)

พวกเขาทดลองง่ายๆ ด้วยการนับอัตราการกระเพื่อมของร่ม (pulse rate) เปรียบเทียบในเวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน 6 วัน ในแมงกะพรุน 23 ตัว ซึ่งพวกเขาพบว่าในเวลากลางคืน อัตราการกระเพื่อมลดลงถึง 32% แต่เมื่อนักวิจัยลองใส่ ‘ขนมยามดึก’ ลงไปในน้ำตอนกลางคืน พวกมันก็จะกลับมากระเพื่อมด้วยอัตราปกติเหมือนตอนกลางวัน

เกณฑ์ที่ 2 : การตอบสนองต่อสิ่งเร้าลดลงเมื่อเทียบกับภาวะปกติ

สำหรับเกณฑ์นี้ พวกเขาทดลองสร้างตะแกรงตาข่ายเล็กๆ ขึ้นมา แล้วค่อยๆ ช้อนแมงกะพรุนกลับหัว (ซึ่งชอบนอนติดพื้น) ขึ้นไปกลางน้ำ แล้วปล่อยตะแกรงออก ปล่อยให้น้องลอยเท้งเต้งอยู่กลางน้ำ ซึ่งถ้าทำในเวลากลางวัน พวกมันจะใช้เวลาแค่ราวๆ 2 วินาที ในการตอบสนอง ที่จะเริ่มว่ายกลับมาสู่พื้น แต่ถ้าเป็นเวลากลางคืน มันจะใช้เวลาถึง 6 วินาที กว่าจะตอบสนองและเริ่มว่ายน้ำ (สะลึมสะลืออยู่นั่นเอง)

เกณฑ์ที่ 3 : เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพื่อให้ร่างกายเป็นปกติ (พูดอีกอย่างว่า ถ้าไม่ได้ทำ ร่างกายจะเกิดปัญหา)

สำหรับข้อนี้ ถ้าเราเป็นแมงกะพรุนคงหงุดหงิดน่าดู เพราะนักวิจัยทดลองกวนมันทั้งคืนไม่ให้หลับ โดยพ่นน้ำใส่พวกมันเบาๆ ทุกๆ 20 นาที

ในคืนที่พวกมันถูกกวนเป็นเวลา 6 ชั่วโมงก่อนสว่าง อัตราการกระเพื่อมในเช้าวันต่อมาจะลดลงราว 12% ในช่วง 4 ชั่วโมงแรกของวัน ราวกับว่ามันไม่อยากจะตื่น ส่วนในคืนที่มันถูกกวนตลอดคืน อัตราการกระเพื่อมในวันถัดมาจะลดลง 17 % ตลอดทั้งวัน แต่พอนักวิจัยเลิกกวน ปล่อยให้มันนอนเป็นปกติ ในวันถัดมาอัตรากระเพื่อมก็กลับมาเป็นปกติดังเดิม

แหล่งข้อมูล: https://www.livescience.com/60476-jellyfish-sleep.html

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เพลงรักฉบับแมงกะพรุนการเดินทางประจำวัน >>