น้ำจืด : พายเรือล่องป่า… ตามหาแมงกะพรุนน้ำจืดแห่งเขาค้อ

แมงกะพรุนที่อาศัยอยู่ในน้ำจืด ส่วนใหญ่จะอยู่ในวงศ์ Olindiidae โดยมีรายงานไว้กว่า 20 สายพันธุ์ แต่บางสายพันธุ์ก็ยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ

หนึ่งในสกุลที่อาศัยในน้ำจืดโดยเฉพาะคือสกุล Craspedacusta ซึ่งมีหลายสปีชีส์กระจายอยู่ทั่วโลก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เกิดจากการที่ระยะ Polyp ติดไปกับพืชหรือดินโคลนตามเท้านก

ในประเทศไทยก็มีแมงกะพรุนน้ำจืดเช่นกัน เช่น สายพันธุ์ Craspedacusta Sinensis ซึ่งชอบอยู่ในน้ำนิ่ง พบได้แถบลุ่มแม่น้ำโขง เช่น น่าน เลย สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ส่วนอีกสายพันธุ์คือ Craspedacusta Sowerbii ซึ่งชอบอยู่ในน้ำไหล* พบได้ที่แก่งบางระจัน ลำน้ำเข็ก ต.หนองแม่นา อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งที่นั่นมีการจัดเทศกาล ‘พายเรือท่องป่าตามหาแมงกะพรุนน้ำจืด’ ขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงต้นเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม เนื่องจากเป็นช่วงที่ระยะ Medusa เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก พวกมันมีขนาดราว 2-3 เซนติเมตร และพิษอ่อนมากจนไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์มีกระดูกสันหลัง

เจ้าแมงกะพรุนน้ำจืด Craspedacusta Sowerbii ยังนับเป็นตัวชี้วัดคุณภาพน้ำชั้นเลิศ เพราะพวกมันชอบอยู่ในน้ำที่มีคุณภาพดี การเห็นพวกมันจึงแปลว่าสายน้ำนี้ยังมีความอุดมสมบูรณ์ พวกมันจะกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร ส่วนในต่างประเทศที่อาศัยในน้ำนิ่ง มีรายงานว่าพวกมันกินลูกน้ำยุงด้วยเช่นกัน

*ในบางประเทศพบว่าสายพันธุ์เดียวกันนี้ชอบอยู่ในน้ำนิ่ง เช่น ทะเลสาบ อ่างเก็บน้ำ

แหล่งข้อมูล:

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปทะเลสาบน้ำเค็ม : ว่ายน้ำกับฝูงแมงกะพรุนที่ปาเลา >>