ในการศึกษาโลกใต้ทะเล หลายครั้งนักวิจัยจะส่งโดรนลงไป แต่ปัญหาของโดรนคือ ใบพัดของมันอาจสร้างความเสียหายให้ปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล อีกทั้งยังมีเสียงดังทำให้สัตว์น้ำตกใจ และนี่จึงเป็นที่มาของการสร้างหุ่นยนต์วิจัยใต้น้ำรุ่นใหม่ที่ได้ชื่อว่า ‘Robo-Jelly’

หุ่นยนต์รุ่นนี้ถูกสร้างขึ้นเลียนแบบแมงกะพรุน ทำให้มันเคลื่อนที่ได้อย่างนุ่มนวล เงียบเชียบ ไม่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศที่มันลงไปศึกษา แถมสามารถบีบตัวผ่านช่องแคบๆ ได้ด้วย

หนวดทั้ง 8 ของมัน ทำจากซิลิโคนนุ่มนิ่ม ด้านใต้ลำตัวมีรูเปิด ปั๊มจะดูดน้ำเข้าและส่งไปที่หนวด หนวดจะพองและยืดออก จากนั้นปั๊มก็จะหยุด ซึ่งทำให้หนวดคลายและพ่นน้ำกลับออกทางเดิม แรงดันน้ำนี้ทำให้มันเคลื่อนตัวไปข้างหน้า

ในลำตัวของ Robo-Jelly เต็มไปด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไว้เก็บข้อมูลต่างๆ เช่น อุณภูมิน้ำทะเล ปริมาณออกซิเจน สุขภาพแนวปะการัง โดยนักวิจัยสามารถส่งสัญญาณ wireless ควบคุมมันได้

ปัญหาอย่างเดียวที่ยังเป็นกังวลกันคือ กลัวว่าเต่าทะเลจะเผลอกินมันเข้าไป ซึ่งก็มีการแนะนำว่า รุ่นต่อไปอยากให้เพิ่มระบบเสียงเตือนภัยเวลาที่มีผู้ล่าหลงผิดคิดจะกินมันด้วย

แหล่งข้อมูล:

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< กรองไมโครพลาสติกในน้ำทิ้ง ด้วยเมือกแมงกะพรุนพลิกโฉมวงการแพทย์ ด้วยโปรตีนเขียวเรืองแสงจากแมงกะพรุน >>