เป็นตอนที่ 1 ใน 7 ตอนของเรื่อง ตามติด... ส่องชีวิตแมงกะพรุน

แมงกะพรุนคือนักล่า! พวกมันกินสัตว์อื่นเป็นอาหาร บางชนิดกินแพลงก์ตอนเป็นหลัก บางชนิดกินปลา กุ้ง ปู หรือบางชนิดก็อาจกินแมงกะพรุนด้วยกันเอง ส่วนวิธีกินก็มีทั้งการจับเหยื่อเข้าปากโดยใช้หนวดหรือแขนรอบปาก (Oral Arms) หรืออาจใช้วิธีหลั่งน้ำย่อยภายนอก แล้วดูดซึมสารอาหารเข้าไปก็ได้

สรุปโดยย่อ แมงกะพรุนกินสัตว์อื่นทุกชนิดที่มีขนาดพอให้มันจับได้ และสามารถกินผ่านช่องปากหรือดูดซึมเข้าไปได้

Box Jelly Catching a Fish

ส่วนแมงกะพรุนบางชนิดมีสาหร่ายเซลล์เดียวที่ชื่อ Zooxanthellae อาศัยในเนื้อเยื่อ ทำหน้าที่เป็นแม่ครัวประจำตัว สังเคราะห์แสงแล้วส่งพลังงานให้แมงกะพรุนเจ้าบ้าน ทำให้มันไม่ต้องเหนื่อยกับการหาอาหารเองมากนัก

ภาพ : https://boxjellyfish.org/what-do-box-jellyfish-eat/

เป็นตอนที่ 2 ใน 7 ตอนของเรื่อง ตามติด... ส่องชีวิตแมงกะพรุน

นักวิทยาศาสตร์ในอดีตเคยเข้าใจว่า มีสัตว์ทะเลไม่กี่ชนิดที่กินแมงกะพรุนเป็นอาหาร เนื่องจาก หนึ่ง-ร่างกายแมงกะพรุนประกอบด้วยน้ำถึง 95% ทำให้มีสารอาหารน้อย สอง-จากการตรวจทางเดินอาหารของสัตว์ต่างๆ ไม่ค่อยมีซากแมงกะพรุนหลงเหลืออยู่ ยกเว้นเต่าทะเลกับปลาแสงอาทิตย์ที่เห็นชัดเจน

แต่เมื่อไม่นานมานี้ ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถบ่งบอกชนิดของเหยื่อ โดยตรวจจากร่องรอย DNA ที่เหยื่อหลงเหลือไว้ในเนื้อเยื่อผู้ล่าได้ ทำให้พวกเขาค้นพบสิ่งที่น่าตื่นเต้นว่า สัตว์ที่กินแมงกะพรุนเป็นอาหารมีมากมายกว่าที่เราเคยคิดนัก

เต่าทะเล

เต่าทะเลในวัยเด็กทุกสายพันธุ์มักจะเป็นพวกกินไม่เลือก (Generalist) โดยจะกินแทบทุกอย่างที่หาได้ รวมทั้งแมงกะพรุน แต่พอมันโตเต็มวัย มันจะเลือกกินอาหารแบบเฉพาะเจาะจง (Specialist) เช่น เต่าตนุกินสาหร่ายและหญ้าทะเล เต่ากระกินฟองน้ำ และตำแหน่งมือวางอันดับหนึ่งของนักกินแมงกะพรุนก็ต้องมอบให้แก่ ‘เต่ามะเฟือง’

เต่ามะเฟือง (Leatherback Sea Turtle) มีระบบทางเดินอาหารที่ถูกออกแบบมาให้กินแมงกะพรุนโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นหลอดอาหารที่เต็มไปด้วยหนามแหลม (papillae) ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าในเต่าทะเลชนิดอื่น ซึ่งจะช่วยให้เหยื่อไม่ลื่นหลุดออกมา อีกทั้งยังช่วยป้องกันเนื้อเยื่อหลอดอาหารไม่ให้ถูกเข็มพิษของแมงกะพรุนทิ่มแทงด้วย แม้แต่แมงกะพรุนที่พิษร้ายที่สุดอย่าง ‘แมงกะพรุนกล่อง’ พี่เต่ามะเฟืองของเราก็จัดการได้!

นอกจากนั้น พวกเธอยังมีหลอดอาหารยาวกว่าเต่าทะเลอื่นๆ ราว 6 เท่า! ทำให้เต่ามะเฟืองสามารถกินแมงกะพรุนครั้งละมากๆ ได้ เหมาะสมกับวงจรชีวิตแมงกะพรุนที่เกิดพร้อมกันเป็นฤดูกาล (Bloom) และด้วยความที่ร่างกายแมงกะพรุน 95% เป็นน้ำ ทำให้เจ้าเต่าต้องสวาปามแมงกะพรุนในปริมาณมหาศาล ซึ่งในบางฤดูกาลมันอาจกินแมงกะพรุนมากถึง 73% ของน้ำหนักตัวเลยทีเดียว นับเป็นจอมยุทธ์มือหนึ่งที่ช่วยควบคุมปริมาณแมงกะพรุนโดยแท้

ดูคลิปวิดีโอ: https://news.nationalgeographic.com/2017/06/sea-turtle-eats-jellyfish-video-ecology-marine-spd/

ปลาแสงอาทิตย์ (Ocean Sunfish, Mola mola)

ปลาแสงอาทิตย์ หรือที่เรียกกันว่า ปลาโมลาโมลา คือปลากระดูกแข็งที่ใหญ่ที่สุดในทะเล รูปร่างเหมือนปลาครึ่งตัวที่ส่วนหางหายไป เธอคืออีกหนึ่งนักกินเยลลี่ และด้วยความที่มีขนาดใหญ่ราว 2 เมตร ทำให้มันต้องกินแมงกะพรุนในปริมาณมหาศาล อย่างไรก็ตาม เจ้าโมลายังกินอาหารอื่นๆ เช่น ปลา สาหร่าย ไปจนถึงแพลงก์ตอนด้วย

ทากทะเลในกลุ่ม Aeolid

นี่คือหัวขโมยแห่งท้องทะเล ผู้ขโมยเข็มพิษของแมงกะพรุนมาไว้กับตัว!

ทากทะเลในกลุ่มนี้จะแทะเล็มสัตว์ในไฟลัม Cnidaria เป็นอาหาร เช่น แมงกะพรุน ปะการัง ดอกไม้ทะเล ไฮดรอยด์ ฯลฯ แต่แทนที่จะย่อยสิ่งที่กินไปทั้งหมด มันกลับเก็บเข็มพิษของเหยื่อเอาไว้ แล้วเอามาใช้เป็นอาวุธของตัวเอง โดยจะเก็บไว้ที่ปลายรยางค์ (cerata) อย่างเช่นจุดส้มๆ ที่เห็นในภาพ

นี่ตัวอย่างของประโยคที่ว่า “You are what you eat!” โดยแท้

ปลา, ปู, กุ้งล็อบสเตอร์, ปลาหมึก

ปลาหลายชนิด ก็จะตอดเนื้อแมงกะพรุนกินเล่นเป็นอาหารว่าง

ปูบางชนิด เช่น ปูม้า (Blue Swimmer Crab) สามารถว่ายน้ำขึ้นมาจับแมงกะพรุน ดึงลงไปที่พื้นทะเล และฉีกทึ้งเข้าปาก ส่วนตัวอ่อนกุ้งล็อบสเตอร์ก็จะชอบเกาะหลังแมงกะพรุน ขอโดยสารเดินทางไปที่ต่างๆ แบบไม่เปลืองพลังงาน แถมโดยสารฟรีๆ ไม่พอ ช่วงที่นึกหิวก็ยังแทะเล็มหนวดแมงกะพรุนเจ้าบ้านกินอีก!

ส่วนปลาหมึกยักษ์แห่งทะเลลึกสายพันธุ์ Haliphron atlanticus ก็เคยถูกบันทึกว่ามันกินแมงกะพรุนด้วย

Longfin Bannerfish Eating Jellyfish

Longfin Bannerfish Eating Jellyfish

ปะการัง

เมื่อกระแสน้ำเป็นใจ พัดพาแมงกะพรุนให้ลอยมาติดกอปะการัง ปะการังบางชนิดก็ถือเป็นลาภปาก

แม้ว่าตัวปะการังแต่ละตัว (Polyp) จะเล็กกว่าแมงกะพรุนมากนัก แต่พวกมันก็อาศัยหลักความสามัคคี ช่วยกันจับแมงกะพรุนไว้แน่น ทำให้แมงกะพรุนหนีไปไหนไม่ได้ แล้วแต่ละ Polyp ก็ค่อยๆ กินแมงกะพรุนแบบเป็นๆ

Orange Cup Coral Eating Jellyfish

Orange Cup Coral Eating Jellyfish

ภาพ: https://esajournals.onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1002/ecy.2413

เรื่อง: https://www.bbc.com/news/uk-scotland-edinburgh-east-fife-45022553

ปลา นกทะเล สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล

แม้ว่าแมงกะพรุนหลายชนิดจะกินปลา แต่ปลาบางชนิดก็ชอบตอดแมงกะพรุนกินเล่นเช่นกัน ส่วนแมงกะพรุนที่เกยตื้นชายหาด ก็เป็นอาหารของนกทะเลและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดในยามที่อาหารหายาก

และจากเทคโนโลยีการตรวจ DNA ของเหยื่อในเนื้อเยื่อของผู้ล่า ทำให้พบว่า 76% ของเหยื่อในตัวอ่อนปลาไหลคือแมงกะพรุน ในขณะที่จากการตรวจขี้นกอัลบาทรอส พบว่ามันกินแมงกะพรุนราว 20% ส่วนน้องเพนกวินก็ไม่น้อยหน้า พบว่ามีสัดส่วนของแมงกะพรุนในอาหารถึง 40% เลยทีเดียว

มนุษย์

แมงกะพรุนถูกบันทึกว่าเป็นอาหารของชาวจีนมานับพันปี แต่แน่นอนว่าไม่ใช่แมงกะพรุนทุกชนิดที่กินได้ และก่อนจะกินก็ต้องผ่านกระบวนการที่เหมาะสม

สายพันธุ์แมงกะพรุนที่คนกินได้ ส่วนใหญ่อยู่ใน Class Scyphozoa และมักมีพิษอ่อน เช่น แมงกะพรุนลูกปืนใหญ่ (Cannonball Jellyfish)(Stomolophus meleagris), แมงกะพรุนหนัง (Rhopilema spp.), แมงกะพรุนลอดช่อง (Lobonema smithi), แมงกะพรุนหอม (Mastigias sp.) ฯลฯ

ปรสิต

แม้แต่แมงกะพรุนก็มีปรสิตกับเขาเหมือนกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกแอมฟิพอด (Amphipod สัตว์ในตระกูล Crustacean ขนาดเล็ก) ซึ่งจะฝังตัวอยู่ในเนื้อเยื่อแมงกะพรุน คอยกัดกินเนื้อเยื่อ รวมถึงอวัยวะสืบพันธุ์ของแมงกะพรุนเป็นอาหาร

 

ค้นคว้าต่อได้ที่

https://www.nationalgeographic.com/animals/2019/01/many-ocean-creatures-surprisingly-eat-jellyfish/
https://seaturtleexploration.com/inside-of-a-sea-turtles-mouth/
https://www.nytimes.com/2018/09/28/science/jellyfish-predators-oceans.html
https://www.researchgate.net/publication/233497604_Jellyfish_as_food

เป็นตอนที่ 3 ใน 7 ตอนของเรื่อง ตามติด... ส่องชีวิตแมงกะพรุน

เข็มพิษแมงกะพรุนนั้นถือเป็นอาวุธทรงประสิทธิภาพ สัตว์ทะเลหลายชนิดจึงหาโอกาสแย่งชิงมาเก็บไว้กับตัวเพื่อเป็นอาวุธป้องกันผู้ล่า

  • ทากทะเลในกลุ่ม Aeolid : พวกนี้กินหนวดแมงกะพรุนเข้าไป แต่แทนที่จะย่อยทั้งหมด มันกลับเก็บเซลล์เข็มพิษไว้ แล้วเอามาไว้ที่ปลายรยางค์ (cerata) ของตัวเอง
  • ปลาหมึก Blanket Octopus : พวกนี้จะนำชิ้นส่วนหนวดของแมงกะพรุนมาติดไว้ตรงตัวดูด (sucker) ของหนวดทั้ง 8 ของมัน เพื่อเป็นการป้องกันตัวและขู่ศัตรู
  • ปูแต่งตัว : ปูพวกนี้คือปูที่มักจะหาสิ่งมีชีวิตมีพิษอื่นๆ มาแปะไว้ตามตัว เช่น ฟองน้ำ ไฮดรอยด์ ดอกไม้ทะเล หรือแม้แต่แมงกะพรุนก็ไม่เว้น โดยปูบางตัวจะนำแมงกะพรุนกลับหัวมาใส่เป็นหมวกเดินไปไหนต่อไหน… มีหมวกวิเศษแบบนี้ ผู้ล่าหน้าไหนก็ไม่กล้าแหยม

 

เป็นตอนที่ 5 ใน 7 ตอนของเรื่อง ตามติด... ส่องชีวิตแมงกะพรุน

สมมุติว่าคุณเป็นสัตว์ตัวจิ๋วๆ ในทะเล ว่ายน้ำก็แสนช้า แถมพอออกจากที่กำบังก็เสี่ยงต่อการถูกผู้ล่าจับกิน แต่บังเอิญว่าฟังเพลงพี่ตูนแล้วฮึกเหิม…อยากออกไปแตะขอบฟ้า อยากเดินทางไปที่ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการหาอาหารและจับคู่ผสมพันธุ์ คุณจะทำยังไงดี?…

สัตว์เล็กๆ หลายชนิด เช่น ปู เพรียงคอห่าน ตัวอ่อนดอกไม้ทะเล ตัวอ่อนล็อบสเตอร์ ดาวเปราะ พวกเขาเลือกวิธี ‘โบก Grab Jelly’ ขอติดไปกับแมงกะพรุน บ้างอาศัยเกาะบนร่ม บ้างหลบซ่อนข้างใน บ้างอยู่ที่ขอบร่ม อาศัยแมงกะพรุนเป็น ‘รถบ้าน’ เดินทางแบบฟรีๆ ไม่เปลืองพลังงาน รวมทั้งแมงกะพรุนยังเป็นเกราะกำบังผู้ล่าให้อีก แถมบางทีก็ได้กินเศษอาหารเหลือๆ ที่แมงกะพรุนกินไม่หมดด้วย บางครั้งแมงกะพรุน 1 ตัว อาจมีดาวเปราะเกาะอยู่นับสิบ

Fish Swimming inside Jellyfish

Fish Swimming inside Jellyfish

Brittle Stars Riding a Jellyfish

Jelly Starburst: Brittle Stars Riding a Jellyfish

แม้แต่หนวดและแขนรอบปากของแมงกะพรุนที่เต็มไปด้วยเข็มพิษ ก็มักจะมีปลาหลายชนิดว่ายเข้ามาอาศัย ซึ่งพวกมันมีวิทยายุทธ์ขั้นสูงในการว่ายหลบหลีกไม่ให้โดนเข็มพิษ และอาศัยม่านเข็มพิษนี้เป็นเกราะกันภัยไม่ให้ผู้ล่าเข้ามากินมัน

ภาพ: https://ecophiles.com/2016/11/30/wildlife-photographer-of-the-year-wildlife-images-youll-never-forget/

เป็นตอนที่ 6 ใน 7 ตอนของเรื่อง ตามติด... ส่องชีวิตแมงกะพรุน

การผสมพันธุ์ของแมงกะพรุนนั้นก็น่าสนใจ ส่วนใหญ่พวกมันจะแยกเพศกันชัดเจน แต่ก็มีบางชนิดที่มี 2 เพศในตัวเดียว วิธีการผสมพันธุ์นั้นก็มีหลายแบบมาก ขึ้นกับชนิดแมงกะพรุน เช่น

1. ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ – เราปฏิสนธิโดยไม่รู้จักกัน

แมงกะพรุนส่วนใหญ่สืบพันธุ์โดยไม่ต้องเจอหน้ากันด้วยซ้ำ โดยตัวผู้และตัวเมียต่างปล่อยสเปิร์มและไข่จำนวนมหาศาลออกสู่มวลน้ำ ไข่และสเปิร์มเหล่านี้ก็จะล่องลอยไปตามชะตากรรม ส่วนใหญ่ถูกกินไป ส่วนน้อยก็จะได้รับการผสมและสืบทอดทายาทแมงกะพรุนรุ่นต่อไป

2. ลาลาลอย – ฉันจะพาเธอลอยล่องไปในอันตราย

ในแมงกะพรุนบางชนิด ตัวเมียจะไม่ปล่อยไข่ออกไปในมวลน้ำ แต่จะมีถุงไข่อยู่ใกล้ๆ รูเปิด (รูเดียวกับที่เป็นปากและตูดนั่นแหละ) แล้วมันก็จะว่ายน้ำผ่านดงสเปิร์มที่ตัวผู้มารวมตัวกัน แล้วการปฏิสนธิก็จะเกิดขึ้นภายใน มันจะอุ้มท้องไข่นั้นไว้ แล้วพาตัวอ่อนลอยละล่องไปในทะเล ปกป้องมันจากอันตราย วิธีแบบนี้ทำให้ลูกมีอัตรารอดมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถผลิตเป็นจำนวนมากๆ ได้เหมือนในแบบแรก

3. ฝากเอาไว้ในกายเธอ – คือสเปิร์มแพ็กหนึ่ง

แมงกะพรุนกล่องสายพันธุ์ Copula sivickisi มีวิธีผสมพันธุ์ที่ไม่ธรรมดา

ก่อนจะเริ่มบรรเลงเพลงรัก ทั้งคู่จะเต้นรำโดยใช้หนวดเกาะเกี่ยวกัน เมื่อพร้อม ตัวผู้ก็จะดึงตัวเมียเข้ามาใกล้ แล้วส่งถุงใบหนึ่งใส่ปากของเธอ – ภายในถุงใบนั้น บรรจุไว้ด้วยสเปิร์มมากมาย พร้อมกับกระเปาะเซลล์เข็มพิษเวอร์ชันพิเศษ!… คือมีแต่ตะขอปลายแหลม แต่ไม่มีน้ำพิษ มีหน้าที่เพื่อยึดเกาะกับอวัยวะเพศของตัวเมีย

ทีนี้ เมื่อตัวเมียกินถุงนั้นเข้าไปแล้ว ทั้งคู่ก็จะแยกย้าย และหาคู่ผสมพันธุ์ตัวใหม่ต่อไป!

ฝั่งตัวผู้จะผสมจนกระทั่งอัณฑะทั้ง 4 คู่ ไม่มีสเปิร์มหลงเหลือ ส่วนฝั่งตัวเมียก็จะกินแพ็กเกจสเปิร์มของตัวผู้ตัวอื่นไปเรื่อยๆ จนเต็มท้อง สเปิร์มที่อยู่ในท้องเธอจะถูกย่อย แต่ไม่ได้ย่อยหมด จะเหลือแค่ส่วนนิวเคลียสไว้ และจะถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกาย เดินทางสู่เซลล์ไข่ ปฏิสนธิ และเติบโตเป็นเอ็มบริโอ

จากนั้น แม่แมงกะพรุนกล่องก็จะคลอดเอ็มบริโอออกมาเป็นเส้นเหนียวๆ เรียก Embryo Strand วางไว้ในแนวปะการังที่เธออาศัย แต่ทำแค่นั้นไม่ปลอดภัยแน่ๆ เธอจึงปล่อยเซลล์เข็มพิษที่ใช้งานได้วางโป๊ะไปด้วย ราวกับรั้วลวดหนามอย่างดี

4. บอกรักตัวเองอีกทีนะเรา

แมงกะพรุนบางชนิด เช่นในสกุล Staurocladia และ Eleutheria มีสองเพศในตัวเดียว ซึ่งวัย Medusa ของมันสามารถขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศโดยการแตกหน่อได้ หรือจะแบบอาศัยเพศด้วยการผสมภายในตัวเองก็ได้ ซึ่งวิธีหลังนี้มักใช้เมื่อสภาวะแวดล้อมไม่เหมาะสม เพื่อให้ลูกน้อยมีโอกาสล่องลอยไปที่ใหม่ๆ ที่อาจมีโอกาสรอดมากกว่าเดิม

แหล่งข้อมูล:
http://www.bbc.com/earth/story/20150531-jellyfish-use-stingers-for-sex/
https://www.livescience.com/45975-animal-sex-jellyfish.html

เป็นตอนที่ 7 ใน 7 ตอนของเรื่อง ตามติด... ส่องชีวิตแมงกะพรุน

ที่ผ่านมา การนอนหลับคือพฤติกรรมที่พบในสัตว์ที่มีระบบประสาทส่วนกลาง (central nervous system) เท่านั้น แต่งานวิจัยล่าสุดซึ่งตีพิมพ์ในเดือนกันยายน 2017 เผยให้เห็นว่า แมงกะพรุนซึ่งไม่มีระบบประสาทส่วนกลาง (มีเพียงร่างแหประสาท) ก็มีพฤติกรรมที่ ‘ดูคล้ายการนอนหลับ’ เช่นกัน !

แต่การจะสรุปว่าพวกมันนอนหลับจริงหรือไม่ นักวิจัยได้ทดลองกับ ‘แมงกะพรุนกลับหัว’ (Cassiopea sp.) เพื่อพิสูจน์ว่า พฤติกรรมที่ ‘ดูคล้ายว่าหลับ’ นี้ ตรงตามเกณฑ์ที่เรียกว่าการนอนหลับหรือไม่

เกณฑ์ที่ 1 : กิจกรรมต่างๆ ลดลง แต่สามารถเรียกคืนกลับมาในอัตราปกติได้อย่างรวดเร็ว (ทำให้แตกต่างจากการนอนป่วยโคม่า)

พวกเขาทดลองง่ายๆ ด้วยการนับอัตราการกระเพื่อมของร่ม (pulse rate) เปรียบเทียบในเวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน 6 วัน ในแมงกะพรุน 23 ตัว ซึ่งพวกเขาพบว่าในเวลากลางคืน อัตราการกระเพื่อมลดลงถึง 32% แต่เมื่อนักวิจัยลองใส่ ‘ขนมยามดึก’ ลงไปในน้ำตอนกลางคืน พวกมันก็จะกลับมากระเพื่อมด้วยอัตราปกติเหมือนตอนกลางวัน

เกณฑ์ที่ 2 : การตอบสนองต่อสิ่งเร้าลดลงเมื่อเทียบกับภาวะปกติ

สำหรับเกณฑ์นี้ พวกเขาทดลองสร้างตะแกรงตาข่ายเล็กๆ ขึ้นมา แล้วค่อยๆ ช้อนแมงกะพรุนกลับหัว (ซึ่งชอบนอนติดพื้น) ขึ้นไปกลางน้ำ แล้วปล่อยตะแกรงออก ปล่อยให้น้องลอยเท้งเต้งอยู่กลางน้ำ ซึ่งถ้าทำในเวลากลางวัน พวกมันจะใช้เวลาแค่ราวๆ 2 วินาที ในการตอบสนอง ที่จะเริ่มว่ายกลับมาสู่พื้น แต่ถ้าเป็นเวลากลางคืน มันจะใช้เวลาถึง 6 วินาที กว่าจะตอบสนองและเริ่มว่ายน้ำ (สะลึมสะลืออยู่นั่นเอง)

เกณฑ์ที่ 3 : เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพื่อให้ร่างกายเป็นปกติ (พูดอีกอย่างว่า ถ้าไม่ได้ทำ ร่างกายจะเกิดปัญหา)

สำหรับข้อนี้ ถ้าเราเป็นแมงกะพรุนคงหงุดหงิดน่าดู เพราะนักวิจัยทดลองกวนมันทั้งคืนไม่ให้หลับ โดยพ่นน้ำใส่พวกมันเบาๆ ทุกๆ 20 นาที

ในคืนที่พวกมันถูกกวนเป็นเวลา 6 ชั่วโมงก่อนสว่าง อัตราการกระเพื่อมในเช้าวันต่อมาจะลดลงราว 12% ในช่วง 4 ชั่วโมงแรกของวัน ราวกับว่ามันไม่อยากจะตื่น ส่วนในคืนที่มันถูกกวนตลอดคืน อัตราการกระเพื่อมในวันถัดมาจะลดลง 17 % ตลอดทั้งวัน แต่พอนักวิจัยเลิกกวน ปล่อยให้มันนอนเป็นปกติ ในวันถัดมาอัตรากระเพื่อมก็กลับมาเป็นปกติดังเดิม

แหล่งข้อมูล: https://www.livescience.com/60476-jellyfish-sleep.html

เป็นตอนที่ 8 ใน 7 ตอนของเรื่อง ตามติด... ส่องชีวิตแมงกะพรุน

เมื่อพูดถึงการอพยพ เรามักนึกถึงนกอพยพหนีหนาว หรือ Wildebeest แถบแอฟริกา แต่จริงๆ แล้วการอพยพที่ใหญ่ที่สุดของโลกอยู่ในมหาสมุทร และเป็น ‘การอพยพแนวดิ่ง’ (Vertical Migration)

ทุกๆ เย็นย่ำยามสนธยาของแต่ละวัน จะมีนักเดินทางทั่วโลกราว 5 พันล้านตัน เดินทางจากขึ้นมาจากน้ำลึก เพื่อขึ้นมาหากินในโซนน้ำตื้นที่แสงส่องถึง ก่อนจะกลับลงไปในตอนเช้าตรู่ พวกนี้มีด้วยกันหลายชนิด เช่น แพลงก์ตอนสัตว์ กุ้ง หมึก Krill รวมถึงแมงกะพรุนน้ำลึก

สาเหตุที่มันต้องทำแบบนี้ เพราะ

  1. ในน้ำลึกมีอุณหภูมิต่ำ ทำให้ระบบเมตาบอลิซึมลดลง หรือพูดง่ายๆ ว่า เวลาอยู่ตรงนั้นประหยัดพลังงานได้มากกว่า ทำให้สัตว์หลายชนิดเลือกที่จะอยู่ตรงนั้น
  2. แต่การจะอยู่ในน้ำลึกทั้งวันทั้งคืนก็ไม่ดีนัก เพราะอาหารส่วนใหญ่อยู่ในที่ตื้น เริ่มจากแพลงก์ตอนพืชที่อาศัยอยู่ในโซนที่มีแสงสว่าง ทำให้แพลงก์ตอนสัตว์จำนวนมากเคลื่อนที่ขึ้นมากินในช่วงกลางคืน สัตว์พวกที่กินแพลงก์ตอนก็จะตามขึ้นมาอีกที
  3. ข้อดีอีกอย่างของการขึ้นมากลางคืนคือ ผู้ล่าในช่วงกลางคืนน้อยกว่า

แม้ว่าการอพยพแนวดิ่งแบบนี้จะพบมากในแมงกะพรุนน้ำลึก แต่แมงกะพรุนบางชนิดในแถบชายฝั่งก็มีการอพยพแนวดิ่งเช่นกัน แต่ในระยะทางที่สั้นกว่า เช่น แมงกะพรุนพระจันทร์ (Aurelia spp.) จะมีการเคลื่อนที่มารวมตัวที่ผิวน้ำเพื่อปล่อยไข่และสเปิร์มให้ผสมกัน (Spawning)

นอกจากนั้น ยังมีการอพยพประจำวันในแนวระนาบด้วย เช่น แมงกะพรุนพระจันทร์ที่หมู่เกาะแห่งหนึ่งในแคนาดา ทุกๆ วัน มันจะอพยพไปในแนวตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นที่ที่ชายฝั่งได้รับแสงยาวนานที่สุดของวัน

อย่างไรก็ตาม การอพยพบางประเภทยังเป็นปริศนา เช่น ที่ออสเตรเลียมีการพบว่า หลังจากช่วงฝนตกหนักในทุกฤดูฝน จะมี Medusa วัยเด็กของแมงกะพรุนกล่อง Chironex Fleckeri ลอยออกจากปากแม่น้ำลงสู่ทะเล แต่ยังไม่เคยมีใครเคยเห็นพวกมันอพยพกลับขึ้นไปในแม่น้ำเลย รวมทั้งระยะ Polyp ของมันที่อยู่ในแม่น้ำ ก็เคยมีคนเห็นเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น เรื่องราวความสัมพันธ์ของแมงกะพรุนกล่องชนิดนี้กับแม่น้ำจึงยังคงเป็นปริศนาต่อไป

https://www.nathab.com/blog/the-largest-migration-on-earth-is-vertical/
หนังสือ Jellyfish: A Natural History (ผู้เขียน Lisa-ann Gershwin)