เป็นตอนที่ 1 ใน 3 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนคืออะไร?

หากพูดกันในภาษาชาวบ้าน แมงกะพรุนคือสิ่งมีชีวิตที่มีคุณสมบัติหลักๆ 3 ข้อ คือ

1. เป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นวุ้นใสๆ
2. ใช้ชีวิตล่องลอยไปตามกระแสน้ำ
3. มีหนวดที่มีเข็มพิษ

แต่ความปวดหัวในการนิยามแมงกะพรุนคือ แต่ละตำราดันนิยามไม่เหมือนกัน สัตว์บางชนิดมีคุณสมบัติทั้ง 3 ข้อ แต่นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มก็บอกว่ามันไม่ใช่แมงกะพรุน เพราะมันมีบางอย่างทางชีววิทยาแตกต่างกับแมงกะพรุนทั่วไปมากเหลือเกิน ในขณะที่บางชนิดดูเผินๆ คล้ายแมงกะพรุนมาก แต่ดันไม่มีเข็มพิษ ทำให้หนังสือหลายเล่มบอกว่ามันไม่ใช่แมงกะพรุน ในขณะที่หนังสือบางเล่มก็นับรวมพวกมันเข้าไปด้วย

และนี่จึงทำให้การจัดหมวดหมู่ทางวิทยาศาสตร์มีความสำคัญ เพราะมันจะทำให้เราเห็นภาพว่า ตัวไหนเป็นญาติใกล้เคียงกับตัวไหน… เพราะ ‘ชื่อ’ จะเรียกอย่างไรก็ไม่สำคัญ ตราบใดที่เราเข้าใจว่าสัตว์ชนิดนี้คืออะไร ต่างจากกลุ่มอื่นตรงไหน มีจุดสังเกตอย่างไร และเมื่อเรารู้จักมัน เราก็จะรู้ว่าตัวไหนอันตรายควรหนีห่าง หรือตัวไหนที่เราสามารถลอยตัวชื่นชมความมหัศจรรย์ของมันได้อย่างสบายใจ

แมงกะพรุนอยู่ตรงไหนในต้นไม้แห่งวิวัฒนาการ ?

แมงกะพรุน – ในความหมายที่ทุกคนเห็นตรงกันว่าเป็นแมงกะพรุนแน่ๆ — คือสัตว์ในไฟลัมไนดาเรีย (Cnidaria) มีเพื่อนร่วมไฟลัมคือ ปะการัง ดอกไม้ทะเล กัลปังหา ไฮดรอย์ ไฮดรา ปากกาทะเล ถ้วยทะเล ไซโฟโนฟอร์ ฯลฯ โดยเอกลักษณ์ประจำไฟลัมนี้คือ มีเข็มพิษ (Stinging Cells) ที่ทำงานด้วยระบบสัมผัส แตะปุ๊บ ยิงปั๊บ ส่วนพิษจะร้ายแรงแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับชนิดสัตว์ ปริมาณพิษที่ได้รับ และความแพ้ของแต่ละคน

Jellyfish Taxonomy Chart

จากระดับไฟลัม นักชีววิทยาก็แบ่งย่อยออกเป็น คลาส (Class) ต่อไปอีก (อ่าน “วิธีการแบ่งหมวดหมู่แบบวิทยาศาสตร์“) แมงกะพรุนที่เราคุ้นเคยกันจะอยู่ใน 4 คลาสหลักๆ ดังนี้

Class: Staurozoa

เป็นแมงกะพรุนที่หน้าตาพิสดารกว่าชาวบ้านเขา คือมีรูปร่างคล้ายแก้วแชมเปญเกาะติดอยู่ที่พื้นทะเล ไม่ได้ล่องลอยกลางน้ำเหมือนแมงกะพรุนทั่วไป พวกนี้เราเรียก ‘แมงกะพรุนก้าน’ หรือ ‘Stalked Jellyfish’

Cnidaria Class Staurozoa

Class Staurozoa, Phylum Cnidaria

 

Class: Cubozoa

นี่คือกลุ่มสายโหดที่เรารู้จักกันในนาม ‘แมงกะพรุนกล่อง’ (Box Jellyfish) ผู้มีพิษร้ายแรงขนาดทำให้คนตายได้ โดยส่วนร่ม (bell) ของพวกนี้จะดูคล้ายกล่อง มีหนวดยาวเฟื้อยที่เต็มไปด้วยเข็มพิษ และมีเซลล์รับแสงที่พัฒนามาก

Class Cubozoa, Phylum Cnidaria

 

Class: Scyphozoa

นี่คือกลุ่มที่เราเรียกว่าเป็น ‘แมงกะพรุนแท้’ (True Jellyfish) คือตรงตามลักษณะโหงวเฮ้งของแมงกะพรุนที่เราคุ้นเคยกันทุกประการ โดยมีจุดเด่นที่ไม่เหมือนกลุ่มอื่นคือ มีแขนรอบปาก (Oral Arms) ที่มีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อยึกยือที่ห้อยย้อยลงมา ทำหน้าที่สาวเหยื่อใส่ปาก ในขณะที่หนวดที่เป็นเส้นๆ นั้น บางชนิดก็มี บางชนิดก็ไม่มี

Class Scyphozoa, Phylum Cnidaria

 

Class: Hydrozoa

กลุ่มนี้จะรวมมิตรสมาชิกหลากหลาย ตั้งแต่ไฮดราและไฮดรอย์, ไซโฟโนฟอร์ รวมไปถึง แมงกะพรุนในกลุ่ม Hydromedusa เช่น Immortal Jellyfish, Lion’s Mane Jellyfish ฯลฯ

แมงกะพรุนกลุ่ม Hydromedusa, Phylum Cnidaria

 

*แมงกะพรุนทั้งหมดในกลุ่มนี้ เรียกรวมๆ อย่างเป็นทางการว่า เป็นกลุ่มของ Medusozoa (Medusa = ช่วงชีวิตในวัยว่ายน้ำของแมงกะพรุน, zoa = สัตว์)

เป็นตอนที่ 2 ใน 3 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนคืออะไร?

สิ่งที่ดูคล้ายแมงกะพรุน แต่ไม่ใช่แมงกะพรุน … แต่บางตำราก็นับว่ามันเป็นแมงกะพรุนเช่นกัน

Jellyfish Related - Taxonomy Chart

Jellyfish Related – Taxonomy Chart

 

ไซโฟโนฟอร์ (Siphonophore)

อยู่ในคลาสเดียวกับแมงกะพรุน Hydromedusa, ไฮดราและไฮดรอยด์ แต่สิ่งที่ทำให้พวกมันแตกต่างจากแมงกะพรุนมากคือ ภายในหนึ่งร่างที่เราเห็น ไม่ใช่แค่ชีวิตเดียว!! แต่คือหลายชีวิตประกอบกันเป็น colony โดย ‘แต่ละชีวิต’ ทำหน้าที่เป็น ‘หนึ่งอวัยวะ’ เช่น ชีวิตแรกทำหน้าที่เป็นระบบย่อยอาหาร อีกชีวิตทำหน้าที่เป็นระบบสืบพันธุ์ อีกชีวิตทำหน้าที่เป็นเซลล์เข็มพิษ เป็นต้น ซึ่งทุกชีวิตเหล่านั้นต้องทำงานร่วมกันอย่างแยกจากกันไม่ได้

Siphonophore

สัตว์จำพวก Siphonophore อยู่ในกลุ่ม Hydromedusa, Phylum Cnidaria

 

หวีวุ้น (Comb Jelly)

สำหรับมนุษย์แล้ว น้องหวีวุ้นถือว่าเป็นสัตว์ ‘สวยใส ไร้พิษสง’ พวกเขาไม่มีเข็มพิษ และอยู่คนละไฟลัมกับแมงกะพรุน นั่นคือไฟลัม Ctenophora จุดเด่นคือมีเส้นขนเล็กๆ (cilia) เรียงกัน 8 แถว คล้ายซี่หวี โบกสะบัดพาพัดมันเคลื่อนที่ หลายชนิดมีสีรุ้งเหลือบประกายตามแนวหวี บางชนิดรูปทรงคล้ายวอลนัท บางชนิดตัวแบนคล้ายริบบิ้น บางชนิดมีหนวด 2 เส้น ที่มีกระเปาะกาวที่พุ่งออกมาดักเหยื่อตัวเล็กๆ กิน

Comb Jelly

หวีวุ้น (Comb Jelly)

 

ซาล์ป (Salp) หรือตัวอ่อนของเพรียงหัวหอม (Planktonic Tunicate)

ถึงแม้จะดูเป็นวุ้นใสๆ ลอยในน้ำเหมือนแมงกะพรุน แต่ที่จริงแล้วพวกมันมีลักษณะทางชีววิทยาใกล้เคียงกับมนุษย์มากกว่าแมงกะพรุนซะอีก โดยพวกมันอยู่ในไฟลัม Chordata – ซึ่งเป็นไฟลัมเดียวกับสัตว์มีแกนสันหลัง รวมถึงมนุษย์เรา พวกนี้ไม่มีพิษ แถมยังเป็นมังสวิรัติ กินแพลงก์ตอนพืชเป็นอาหาร ทั้งยังมีความสามารถพิเศษช่วยลดโลกร้อนได้ด้วย เพราะก้อนขี้เล็กๆ ของมันซึ่งเต็มไปด้วยคาร์บอนจากพืชจะจมสู่ก้นทะเลอย่างรวดเร็ว เท่ากับเป็นการดึงคาร์บอนออกจากระบบ

ซาล์ป (Salp)

เป็นตอนที่ 3 ใน 3 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนคืออะไร?

สองคำนี้ เป็นคำที่ชวนให้งุนงงสับสน เพราะแม้คำแปลตรงตัวจะเหมือนกัน แต่ความหมายดันหมายถึงคนละสิ่งกัน

แตนทะเล

เป็นคำที่คนไทยใช้เรียกสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วที่ทำให้เรารู้สึกแสบคันจี๊ดๆ เมื่อลงทะเล พวกนี้เป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็กมากจนแทบมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ส่วนใหญ่เป็นตัวอ่อนในระยะแพลงก์ตอนของสัตว์ในไฟลัม Cnidaria ซึ่งมีเข็มพิษ เช่น ตัวอ่อนปะการัง ตัวอ่อนดอกไม้ทะเล ตัวอ่อนไฮดรอยด์ รวมไปถึงตัวอ่อนแมงกะพรุนด้วย

Sea Wasp

ในภาษาอังกฤษ หมายถึงแมงกะพรุนกล่องสายพันธุ์ Chironex fleckeri

อ้างอิง