เป็นตอนที่ 1 ใน 17 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนสุดว้าวแห่งท้องทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassiopea spp.
หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Scyphozoa >> Order Rhizostomeae
สถานที่พบ : ชายฝั่งน้ำตื้นเขตร้อน

เจ้าแมงกะพรุนในสกุลนี้มีความอินดี้และน่าอิจฉา แม้ว่าพวกมันจะว่ายน้ำได้ แต่เธอไม่ว่ายจ้า… วันๆ เธอเอาแต่นอนเอนหลังติดพื้นทะเล ยืดหดลำตัวผลุบๆ เป็นจังหวะ เพื่อให้กระแสน้ำไหลผ่านเนื้อเยื่อ

ส่วนการหากินนั้น นางก็สุดแสนสบาย ไม่ต้องว่ายน้ำหากินเหมือนใครเขา เพราะในเนื้อเยื่อของนางจะมีสาหร่ายเซลล์เดียวที่ชื่อ Zooxanthellae (เป็นสาหร่ายเซลล์เดียวกลุ่มเดียวกับที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อปะการัง) เป็นแม่ครัวส่วนตัว ทำหน้าที่สังเคราะห์แสงและส่งพลังงานให้มัน โดยกว่า 90% ของพลังงานที่มันใช้ก็มาจากแม่ครัวพวกนี้

ร่างกายของแมงกะพรุนกลับหัวก็ช่างวิวัฒนาการมาให้เหมาะสมกับชีวิตติดพื้นแบบนี้เหลือเกิน ทั้งร่มที่แบนราบ และแขนรอบปากที่แผ่ออกด้านข้างแนวขนานกับพื้นแทนที่จะตั้งฉาก เพื่อเพิ่มพื้นที่รับแสงให้มากขึ้น เรียกได้ว่า เป็นแมงกะพรุนที่เกินมาเพื่อนั่งกินนอนกินโดยแท้

หากอยากเห็นเธอ ต้องตั้งใจมองหาที่พื้นทะเลดีๆ เพราะหากมองผ่านๆ อาจนึกว่าเป็นสาหร่ายได้

Upside-Down Jellyfish at the Aquarium of Genoa

Upside-Down Jellyfish at the Aquarium of Genoa

อ้างอิง : หนังสือ Jellyfish: A Natural History (เขียนโดย Lisa-ann Gershwin)

เป็นตอนที่ 2 ใน 17 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนสุดว้าวแห่งท้องทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cotylorhiza tuberculata
หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Scyphozoa >> Order Rhizostomeae
สถานที่พบ : ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน, ทะเล Aegean Sea, ทะเล Adriatic

นี่คือไข่ดาวใต้ทะเล!… หากมีโอกาสได้เจอจงดีใจ เพราะเธอไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ และถ้าหากลองมองให้ดีๆ อาจเห็นปลาน้อยๆ โผล่หน้าออกมาจากกิ่งก้านของแขนรอบปาก ปลาพวกนี้อาศัยอยู่ที่นี่ เพื่อใช้แมงกะพรุนเป็นบังเกอร์กำบังภัยจากผู้ล่ามากมายในทะเล

เจ้าไข่ดาวนี้ ร่มของมันอาจกว้างได้ถึง 40 เซนติเมตร แต่โดยมากมักไม่เกิน 20 เซนติเมตร นางกินแพลงก์ตอนเป็นอาหารหลัก แถมในเนื้อเยื่อก็มีสาหร่าย Zooxanthellae เป็นแม่ครัวส่วนตัว ช่วยสังเคราะห์แสงส่งอาหารให้เช่นเดียวกับปะการัง ช่วงกรกฎาคมถึงพฤศจิกายนคือช่วงที่มีโอกาสเห็นเจ้าไข่ดาวเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นช่วงที่ polyp แตกหน่อออกมาเป็น Medusa พร้อมๆ กัน

นอกจากนั้น เจ้าไข่ดาวยังถูกศึกษาในฐานะความหวังของการรักษามะเร็งเต้านมบางชนิด ด้วยสารบางอย่างจากมันที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเซลล์มะเร็งบางชนิดแบบเฉพาะเจาะจง โดยไม่ทำลายเซลล์ที่ดี แต่ก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

Fried-Egg Jellyfish

Fried-Egg Jellyfish

ข้อมูล : https://www.inaturalist.org/taxa/324852-Cotylorhiza-tuberculata

เป็นตอนที่ 3 ใน 17 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนสุดว้าวแห่งท้องทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phacellophora camtschatica
หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Scyphozoa >> Order Semaeostomeae
สถานที่พบ : มหาสมุทรแอตแลนติก, มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกในเขตอบอุ่น, ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

บางครั้งเจ้านี่ก็ถูกเรียกว่า ‘แมงกะพรุนไข่ดาว’ (Fried Egg Jellyfish) แต่สิ่งที่ทำให้เจ้าตัวนี้ต่างจากไข่ดาวตัวก่อนหน้าก็คือ เจ้าไข่แดงตัวนี้มีหนวดที่ยาวเฟื้อย – ซึ่งอาจยาวได้ถึง 6 เมตร – เอาไว้ดักจับอาหารจำพวกแมงกะพรุนเล็กๆ, หวีวุ้น, Salp ที่ลอยโง่ๆ มาติดหนวดกิน

หากมีโอกาสได้เจอ ขอให้ลองสังเกตบนร่มของมันดีๆ อาจได้เจอลูกปูหรือพวกแอมฟิพอดโดยสารอยู่ สัตว์น้อยๆ พวกนี้ชอบเกาะแมงกะพรุนเพื่อเดินทางไปที่ใหม่ๆ โดยไม่ต้องเปลืองแรงว่ายน้ำเอง แถมบางทียังขโมยกินเศษอาหารเหลือๆ ที่ติดตามหนวดหรือแขนรอบปากของแมงกะพรุนด้วย…

แมงกะพรุนชนิดนี้มีพิษไม่ร้ายแรง เจอแล้วไม่ต้องกลัวจ้า

ข้อมูล: https://www.inaturalist.org/taxa/52966-Phacellophora-camtschatica

ภาพ: Flickr.com

เป็นตอนที่ 4 ใน 17 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนสุดว้าวแห่งท้องทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Colobonema sericeum
หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Hydrozoa >> Order Trachymedusa
สถานที่พบ : ทั่วโลก

ในโลกใต้ทะเลลึกที่เต็มไปด้วยนักล่าหิวกระหาย ทุกชีวิตต่างวิวัฒนาการกลยุทธ์เพื่อเอาชีวิตรอด และดูเหมือนว่าเจ้าแมงกะพรุนชนิดนี้จะได้แรงบันดาลใจมาจากจิ้งจก !

เมื่อใดก็ตามที่มันถูกโจมตีจนเข้าขั้นจวนตัว มันจะสลัดหนวดทิ้ง แล้วหนวดนั้นก็จะดิ้นกระดุกกระดิก แถมเรืองแสงสีฟ้า ดึงดูดความสนใจของผู้ล่า ไม่ต่างอะไรจากจิ้งจกทิ้งหางรักษาชีวิต ส่วนตัวมันเองก็อาศัยจังหวะชุลมุนผลุบหนีไป และงอกหนวดขึ้นมาใหม่ ใช้ชีวิตต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

อ้างอิง : หนังสือ Jellyfish: A Natural History (เขียนโดย Lisa-ann Gershwin)

เป็นตอนที่ 5 ใน 17 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนสุดว้าวแห่งท้องทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cyanea spp.
หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Scyphozoa >> Order Semaeostomeae
สถานที่พบ : บริเวณน้ำเย็น เช่น ทะเลอาร์กติก แปซิฟิกเหนือ แอตแลนติกเหนือ

นี่คือสกุลของแมงกะพรุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เจ้าของหนวดยาวรุงรังนับร้อยเส้น ซึ่งอาจยาวได้ถึง 30 เมตร พอๆ กับวาฬสีน้ำเงินเลยทีเดียว

บางชนิดในแอตแลนติกเหนือมีร่มกว้างถึง 3 เมตร แต่แม้ว่ามันจะมีขนาดมหึมาน่าเกรงขาม แต่เจ้าวุ้นสิงโตกลับไม่เป็นอันตรายต่อคนอย่างที่คิด ด้วยพิษที่ไม่แรงมาก (แต่ก็แสบๆ คันๆ เหมือนกัน) ยกเว้นบางชนิดที่พบแถวเกาะอังกฤษ สายพันธุ์ C. capillata ที่สามารถทำให้คนถึงแก่ความตายได้ และเจ้านี่ก็เคยรับบทเป็นฆาตรกรในเรื่องเชอร์ล็อกโฮล์มมาแล้ว

Lion's Mane Jellyfish

Lion’s Mane Jellyfish

อ้างอิง: หนังสือ Jellyfish: A Natural History (เขียนโดย Lisa-ann Gershwin)

เป็นตอนที่ 6 ใน 17 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนสุดว้าวแห่งท้องทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Turritopsis dohrnii
หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Hydrozoa >> Order Anthoathecata
สถานที่พบ : ชายฝั่งญี่ปุ่น, บางพื้นที่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (ชายฝั่งอิตาลี, กรีซ, โครเอเชีย)

แม้ว่าจะมีขนาดเพียงแค่เมล็ดถั่ว หน้าตาไม่ได้โดดเด่น แต่เธอคือผู้มีมนตร์วิเศษแห่งการย้อนวัย ชนิดที่ไม่ต้องพึ่งศัลยกรรมดึงหน้า

เมื่อแมงกะพรุนชนิดนี้เริ่มแก่ ร่างกายเกิดความเสียหาย หรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ลำตัวและหนวดของมันจะหดเล็กลงจนดูเหมือนหายไป เนื้อเยื่อค่อยๆ จมสู่พื้นทะเล แต่แทนที่เซลล์เหล่านั้นจะเน่าสลายเหมือนสัตว์ที่ตาย เซลล์เหล่านั้นกลับจัดเรียงตัวใหม่ กลายเป็น Polyp หรือระยะวัยอ่อนอีกครั้ง (นึกภาพเหมือนกบแก่ๆ ที่แปลงร่างกลับเป็นลูกอ๊อด) แล้วเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกรอบ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่ามันสามารถทำแบบนี้ซ้ำๆ ได้นับสิบๆ ครั้ง และเชื่อว่าสามารถทำได้เรื่อยๆ ไม่จำกัดด้วย!

ส่วนเหตุผลที่ทำให้แมงกะพรุนชนิดนี้ไม่ลอยอยู่เต็มทะเลก็คือถูกกินนั่นเอง!

อย่างไรก็ตาม แมงกะพรุนชนิดนี้หาภาพถ่ายได้ยากมาก ภาพที่ปรากฏในหน้านี้ เป็นญาติสนิทที่ชื่อว่า Turritopsis nutricula ซึ่งยังไม่สามารถทดสอบได้ว่า มีคุณสมบัติการย้อนวัยเหมือน Turritopsis dohrnii หรือไม่ แต่มีหน้าตาละม้ายคล้ายกันชนิดที่นักวิจัยก็ยังหลงสลับไปมาอยู่ด้วย (เราจึงขอใช้ภาพสายพันธุ์นี้แทนตัวจริงไปก่อนนะ)

ส่วนภาพถ่ายที่ค้นหาได้จากอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ จะเป็นญาติสนิทอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ชื่อว่า Turritopsis rubra ซึ่งไม่มีคุณสมบัติการย้อนวัยแต่อย่างใด (ขอใช้พื้นที่นี้ แก้ไขความเข้าใจผิดของเว็บส่วนใหญ่นะ) ภาพถ่ายที่ว่าเป็นดังภาพนี้

Turritopsis rubra medusa

Turritopsis rubra medusa

อ้างอิง:

  • หนังสือ Jellyfish: A Natural History (เขียนโดย Lisa-ann Gershwin)
  • เว็บไซต์ World Register of Marine Species: Turritopsis, Turritopsis rubra
  • เว็บไซต์ Immortal Jellyfish
เป็นตอนที่ 7 ใน 17 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนสุดว้าวแห่งท้องทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Periphylla periphylla
หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Scyphozoa >> Order Coronatae
สถานที่พบ : น้ำลึกทั่วโลก แต่ปัจจุบันนี้เริ่มรุกรานมาที่บริเวณน้ำตื้นแถบนอร์เวย์ในช่วงกลางคืนด้วย

นี่คือแมงกะพรุนน้ำลึกในทะเลอันดำมืด ผู้สามารถกะพริบแสงได้ราวกับไฟคริสต์มาส โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การกะพริบแสงของมันมีไว้เพื่อเตือนผู้ล่าให้กลัวและล่าถอย
นอกจากนั้น สีแดงที่ส่วนกระเพาะของมันยังมีเหตุผล นั่นคือการพรางตัว!

ที่มาที่ไปมีอยู่ว่า แพลงก์ตอนหลายชนิดที่เจ้าแมงกะพรุนกลืนลงท้องยังไม่ตาย แถมสามารถเรืองแสงได้ ซึ่งนั่นอาจเป็นการเรียกผู้ล่ามาหามัน ทางเดินอาหารสีแดงจึงเปรียบเสมือนเกราะกำบัง เพราะสีแดงเป็นสีที่มองไม่เห็นในทะเลลึก เพราะช่วงความยาวคลื่นของแสงสีแดงถูกดูดกลืนไปหมด

อ้างอิง: หนังสือ Jellyfish: A Natural History (เขียนโดย Lisa-ann Gershwin)
ภาพ: http://www.arcodiv.org/watercolumn/cnidarian/Scyphomedusae.html

Atolla wyvillei
เป็นตอนที่ 8 ใน 17 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนสุดว้าวแห่งท้องทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Atolla spp.
หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Scyphozoa >> Order Coronatae
สถานที่พบ : น้ำลึกทั่วโลก

นี่คืออีกหนึ่งสกุลแมงกะพรุนน้ำลึกที่มีความพิเศษ ซึ่งนอกจากรูปร่างหน้าตาจะเหมือน UFO แล้ว มันยังสามารถกะพริบจุดแสงเรืองสีฟ้าไล่วนเป็นวงรอบๆ ขอบของร่ม ในยามที่มันรู้สึกว่ามีศัตรูเข้ามาใกล้ ได้อีกด้วย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสัญญาณจุดแสงสีฟ้านี้ แทนที่จะเอาไว้ไล่ศัตรูไปไกลๆ กลับน่าจะวิวัฒนาการขึ้นมาเพื่อเรียกหาสัตว์ผู้ล่าตัวที่ใหญ่กว่า เพื่อมาข่มขู่หรือจัดการกับศัตรูตัวแรกแทน

เทคนิคการใช้แสงเรืองสีฟ้ารอบขอบของร่มหนวดนี้ เป็นแรงบันดาลใจ Dr. Edith Eidder พัฒนาระบบติดตามที่เรียกว่า “Eye in the Sea” ขึ้นมา โดยนอกจากจะใช้ไฟสีแดงอ่อนซึ่งไม่รบกวนทะเลลึกแล้ว เธอยังติดไฟวงแหวนสีฟ้าสดเพื่อดึงดูดสัตว์ผู้ล่าต่างๆ ให้เข้ามาหาและทีมงานของเธอจะได้ศึกษาอย่างสะดวก

นอกจากนี้ หนวดของมันยังมีความน่าสนใจอีกนิดด้วย นักวิทยาศาสตร์ที่สังเกตพวกมันจากเรือดำน้ำลึกพบว่า หนวดแต่ละเส้นของมันจะยาวไม่เท่ากัน หนวดที่ยาวทำหน้าที่จับเหยื่อประเภทไซโฟโนฟอร์ แมงกะพรุน หรือหวีวุ้น ส่วนหนวดที่สั้นกว่ามีไว้จับแพลงก์ตอนสัตว์

Atolla wyvillei Under White Light

Atolla wyvillei Under White Light

อ้างอิง: หนังสือ Jellyfish: A Natural History (เขียนโดย Lisa-ann Gershwin)
ภาพ: NOAA Ocean Explorer

เป็นตอนที่ 9 ใน 17 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนสุดว้าวแห่งท้องทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Staurocladia spp. / Eleutheria spp.
หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Hydrozoa >> Order Anthoathecata
สถานที่พบ : ชายฝั่งทั่วโลก

ในขณะที่แมงกะพรุนอื่นๆ ว่ายน้ำอยู่กลางทะเล แต่เจ้าแมงกะพรุนกลุ่มนี้ดันว่ายน้ำไม่เป็น มันจึงต้องใช้ชีวิตเกาะติดกับใบสาหร่าย ใบหญ้าทะเล โดยใช้หนวดแทนขา! โดยหนวดของมันจะแยกเป็น 2 แฉก แฉกหนึ่งมีตัวดูด (sucker) ไว้ยึดติดใบสาหร่าย อีกแฉกทำหน้าที่เหมือนหนวดแมงกะพรุนทั่วไป มีเข็มพิษ โบกสะบัดไปมาเพื่อจับเหยื่อจำพวกแพลงก์ตอนและสัตว์เล็กๆ มากิน

ความพิสดารยังไม่จบเท่านี้ พวกนี้มี 2 เพศในตัวเดียว สามารถผสมภายในตัวเองได้ แถมตัวอ่อนจะเจริญภายในร่างกาย ออกลูกเป็นตัว! หรือจะขยายพันธุ์โดยโคลนนิ่งตัวเองด้วยการแตกหน่อในวัย Medusa ก็ยังได้

อ้างอิง : หนังสือ Jellyfish: A Natural History (เขียนโดย Lisa-ann Gershwin)
ภาพ : http://www.marinespecies.org/hydrozoa/aphia.php?p=image&tid=16356&pic=74251

เป็นตอนที่ 10 ใน 17 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนสุดว้าวแห่งท้องทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cephea cephea
หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Scyphozoa >> Order Rhizostomeae
สถานที่พบ : อินโดแปซิฟิก

กะหล่ำชนิดนี้เราสามารถกินได้! นี่คือหนึ่งในสายพันธุ์แมงกะพรุนที่ถูกมนุษย์จับมาทำเป็นอาหาร โดยเฉพาะในจีนและญี่ปุ่น พวกมันมักเติบโตเป็นวัย Medusa ในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดภาวะแมงกะพรุนสะพรั่ง (bloom) บ่อยครั้ง ครั้งแรกที่มีบันทึกไว้คือที่อียิปต์ในปี 2011 โดยคาดว่ามีนับหมื่นตัว บางพื้นที่มีความหนาแน่นถึง 20 ตัว ต่อลูกบาศก์เมตร

เจ้ากะหล่ำดอกจะอาศัยอยู่ในน้ำลึกเวลากลางวัน และขึ้นมาที่น้ำตื้นในเวลากลางคืน แถมสามารถเรืองแสงเพื่อให้ผู้ล่าตกใจได้ หน้าตาดูละม้ายคล้ายแมงกะพรุนไข่ดาว ใช่แล้ว! มันอยู่ในวงศ์ Cepheidae เดียวกันนั่นเอง

The water is full of Cauliflower Jellyfish

The water is full of Cauliflower Jellyfish, Cephea cephea at Marsa Shouna, Red Sea, Egypt #SCUBA

อ้างอิง: หนังสือ Jellyfish: A Natural History (เขียนโดย Lisa-ann Gershwin)