สิ่งที่ดูคล้ายแมงกะพรุน แต่ ‘ไม่ใช่’ แมงกะพรุน

เป็นตอนที่ 2 ใน 3 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนคืออะไร?

สิ่งที่ดูคล้ายแมงกะพรุน แต่ไม่ใช่แมงกะพรุน … แต่บางตำราก็นับว่ามันเป็นแมงกะพรุนเช่นกัน

Jellyfish Related - Taxonomy Chart

Jellyfish Related – Taxonomy Chart

 

ไซโฟโนฟอร์ (Siphonophore)

อยู่ในคลาสเดียวกับแมงกะพรุน Hydromedusa, ไฮดราและไฮดรอยด์ แต่สิ่งที่ทำให้พวกมันแตกต่างจากแมงกะพรุนมากคือ ภายในหนึ่งร่างที่เราเห็น ไม่ใช่แค่ชีวิตเดียว!! แต่คือหลายชีวิตประกอบกันเป็น colony โดย ‘แต่ละชีวิต’ ทำหน้าที่เป็น ‘หนึ่งอวัยวะ’ เช่น ชีวิตแรกทำหน้าที่เป็นระบบย่อยอาหาร อีกชีวิตทำหน้าที่เป็นระบบสืบพันธุ์ อีกชีวิตทำหน้าที่เป็นเซลล์เข็มพิษ เป็นต้น ซึ่งทุกชีวิตเหล่านั้นต้องทำงานร่วมกันอย่างแยกจากกันไม่ได้

Siphonophore

สัตว์จำพวก Siphonophore อยู่ในกลุ่ม Hydromedusa, Phylum Cnidaria

 

หวีวุ้น (Comb Jelly)

สำหรับมนุษย์แล้ว น้องหวีวุ้นถือว่าเป็นสัตว์ ‘สวยใส ไร้พิษสง’ พวกเขาไม่มีเข็มพิษ และอยู่คนละไฟลัมกับแมงกะพรุน นั่นคือไฟลัม Ctenophora จุดเด่นคือมีเส้นขนเล็กๆ (cilia) เรียงกัน 8 แถว คล้ายซี่หวี โบกสะบัดพาพัดมันเคลื่อนที่ หลายชนิดมีสีรุ้งเหลือบประกายตามแนวหวี บางชนิดรูปทรงคล้ายวอลนัท บางชนิดตัวแบนคล้ายริบบิ้น บางชนิดมีหนวด 2 เส้น ที่มีกระเปาะกาวที่พุ่งออกมาดักเหยื่อตัวเล็กๆ กิน

Comb Jelly

หวีวุ้น (Comb Jelly)

 

ซาล์ป (Salp) หรือตัวอ่อนของเพรียงหัวหอม (Planktonic Tunicate)

ถึงแม้จะดูเป็นวุ้นใสๆ ลอยในน้ำเหมือนแมงกะพรุน แต่ที่จริงแล้วพวกมันมีลักษณะทางชีววิทยาใกล้เคียงกับมนุษย์มากกว่าแมงกะพรุนซะอีก โดยพวกมันอยู่ในไฟลัม Chordata – ซึ่งเป็นไฟลัมเดียวกับสัตว์มีแกนสันหลัง รวมถึงมนุษย์เรา พวกนี้ไม่มีพิษ แถมยังเป็นมังสวิรัติ กินแพลงก์ตอนพืชเป็นอาหาร ทั้งยังมีความสามารถพิเศษช่วยลดโลกร้อนได้ด้วย เพราะก้อนขี้เล็กๆ ของมันซึ่งเต็มไปด้วยคาร์บอนจากพืชจะจมสู่ก้นทะเลอย่างรวดเร็ว เท่ากับเป็นการดึงคาร์บอนออกจากระบบ

ซาล์ป (Salp)

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< อะไรคือแมงกะพรุน : ความสับสนในการเรียกชื่อแตนทะเล ที่ไม่ใช่ Sea Wasp >>