แม้แมงกะพรุนจะดูเป็นสัตว์บอบบาง แต่ที่จริงแล้วมันสุดแสนจะถึกและทนทาน หลักฐานจากฟอสซิลแมงกะพรุนดึกดำบรรพ์ยืนยันว่า พวกมันอยู่รอดบนโลกนี้มาแล้วกว่า 500 ล้านปี รอดพ้นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (Mass Extinction) ครบทั้ง 5 ครั้ง – มหาวิบัติที่คร่าสิ่งมีชีวิตบนโลกไปกว่า 99% ไม่อาจทำอะไรน้องเยลลี่ของเรา !!

แม้กระทั่งปัจจุบัน – ในยุคที่เรียกว่าเป็น ‘ยุคแห่งการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6’ (The 6th Extinction) ซึ่งเป็นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่จากน้ำมือมนุษย์ – ไม่ว่าจะโลกร้อน อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ทะเลมีค่าความเป็นกรดเพิ่มขึ้น มลพิษและสารเคมีในทะเลเพิ่มขึ้น ขยะพลาสติกทุกหนทุกแห่ง แต่เจ้าแมงกะพรุนก็ดูเหมือนจะไม่เดือดเนื้อร้อนใจอะไร แถมยังเพิ่มจำนวนสบายใจเฉิบด้วยซ้ำ และนี่คือเหตุผลว่าทำไม…

  • โลกร้อน : อุณหภูมิที่สูงขึ้นกลับช่วยเพิ่มอัตราเมตาบอลิซึมของแมงกะพรุน ทำให้พวกมันโตเร็วขึ้น สืบพันธุ์มากขึ้น และมีชีวิตยาวนานขึ้น
  • ขยะพลาสติกในทะเล : กลายเป็นที่ให้ Polyp ยึดเกาะ และเป็น ‘เรือนแพ’ พาพวกมันกระจายพันธุ์ไปทั่วมหาสมุทร ส่วนพวกตัวเต็มวัยก็อาศัยขยะที่ลอยล่องเป็นเกราะกำบังหลบซ่อนตัว เพราะสีสันของขยะสามารถเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ล่า โดยเฉพาะ ‘เต่าทะเล’ – นักกินแมงกะพรุนมือวางอันดับหนึ่ง ก็พ่ายแพ้ต่อขยะทะเล ไปกินถุงพลาสติกจนตายราวกับใบไม้ร่วง เหล่าแมงกะพรุนจึงเพิ่มจำนวนสบายใจโดยไม่มีใครควบคุม
  • มลพิษและสารเคมี : พวกมันอายุสั้นเกินกว่าที่ผลกระทบจากสารเคมีจะทำอะไรได้ ส่วนมะเร็งก็ไม่ต้องพูดถึง… เพราะร่างกายมันเป็นน้ำซะ 95% แทบไม่มีอวัยวะอะไรให้เป็นมะเร็ง
  • Dead Zone (พื้นที่ที่ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำมาก) : พื้นที่แบบนี้กำลังขยายตัวขึ้นทั่วโลก สาเหตุหลักมาจากมลพิษและแร่ธาตุส่วนเกินที่ทำให้แพลงก์ตอนพืชเพิ่มปริมาณจนเกินสมดุล แล้วเมื่อแพลงก์ตอนพืชเหล่านั้นตายและจมสู่ก้นทะเล แบคทีเรียก็จะดึงออกซิเจนจากน้ำไปใช้ในการย่อยสลาย ทำให้ค่าออกซิเจนละลายน้ำลดลงจนเกือบเป็นศูนย์ ผลคือแทบไม่มีสัตว์ชนิดไหนอาศัยอยู่ได้… แต่ถึงกระนั้น พี่แมงกะพรุนของเรายังสามารถลอยตัวหากินอยู่เหนือ Dead Zone และดำลงไปหาอาหารใน Dead Zone เป็นระยะสั้นๆ ได้ เพราะมันสามารถเก็บออกซิเจนในเนื้อเยื่อ และอัตราการใช้ออกซิเจนของมันก็ไม่มากนัก ทำให้ในพื้นที่ Dead Zone หลายแห่ง แมงกะพรุนจึงขึ้นแท่นเป็น Top Predator – ผู้ล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารในบริเวณนั้น
  • การทำลายชายฝั่ง : ไม่ว่าจะเป็นกำแพงกันคลื่น ท่อส่งน้ำมันใต้ทะเล ท่าเรือ ตอม่อสะพาน ก็ไม่มีปัญหาต่อการเจริญเติบโตของแมงกะพรุน และจากการทดลองในห้องแล็บพบว่า Polyp ของแมงกะพรุนชอบเกาะกับวัสดุที่มนุษย์สร้างมากกว่าพื้นผิวธรรมชาติด้วยซ้ำ

ในวันที่ทะเลถูกทำร้ายและความหลากหลายในทะเลกำลังลดลงเรื่อยๆ… ไม่แน่ว่าอนาคต มหาสมุทรอาจถูกยึดครองโดยแมงกะพรุน !!

อ้างอิง: หนังสือ Jellyfish: A Natural History (เขียนโดย Lisa-ann Gershwin)

ภาพ: http://www.plosone.org/article/info:doi/10.1371/journal.pone.0001121

ในสัตว์หลายชนิด เช่น ปลาดาว, จิ้งจก, ซาลาแมนเดอร์ สามารถงอกส่วนของร่างกายที่ขาดไปได้ แต่สำหรับแมงกะพรุนพระจันทร์ (Moon Jellyfish) (Aurelia aurita) พวกมันมีวิธีการซ่อมแซมตัวเองที่ล้ำกว่านั้น

การค้นพบนี้เกิดขึ้นในห้องแล็บแห่งหนึ่ง เมื่อนักวิจัยอยากรู้ว่าหากเราตัดแขนแมงกะพรุน มันจะสามารถงอกใหม่ได้หรือไม่ พวกเขาจึงทดลองกับแมงกะพรุนพระจันทร์ที่อยู่ในระยะ Ephyra (แมงกะพรุนน้อยที่เพิ่งแยกตัวออกมาจาก Polyp) ซึ่งมีรูปร่างเหมือนดอกไม้ 8 แฉก เพราะในวัยนี้มีโครงสร้างเรียบง่ายและเห็นได้ชัดเจน

พวกเขาเริ่มต้นโดยวางยาสลบพวกมัน แล้วตัดแขนบางส่วนของมันทิ้ง ทำให้พวกมันเหลืออยู่ 2-7 แขน ตามแต่ว่าตัวไหนจะโชคดีโชคร้าย แล้วใส่กลับคืนลงในตู้ เพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง แผลพวกมันก็เริ่มปิด แต่แทนที่พวกมันจะงอกแขนที่หายไปกลับมา มันกลับใช้วิธียืดหดกล้ามเนื้อเพื่อจัดเรียงเซลล์ใหม่ จนกระทั่งแขนที่เหลืออยู่ถูกจัดเรียงรอบๆ ตัวอย่างสมมาตร คือแต่ละแขนมีระยะห่างเท่าๆ กัน

นักวิจัยได้ทดลองต่อไปโดยหยดยาคลายกล้ามเนื้อลงในบางตู้ ซึ่งก็พบว่าในตู้นั้น แมงกะพรุนจะกลับคืนสู่ความสมมาตรช้าลง ในขณะที่เมื่อเพิ่มการกระตุ้นกล้ามเนื้อ กระบวนการจะเร็วขึ้น

เหตุผลที่พวกมันวิวัฒนาการมาในทิศทางนี้ ก็เพราะปัจจัยสำคัญของชีวิตแมงกะพรุน ไม่ใช่จำนวนแขน แต่คือความสมดุลของร่างกาย เพราะหากพวกมันมีร่างกายไม่สมมาตร มันก็จะกลายเป็นแมงกะพรุนแขนเป๋ ว่ายน้ำกะเผลกๆ และมีปัญหาในการกินอาหารด้วย

ภาพและข้อมูลงานวิจัยจาก https://www.pnas.org/content/112/26/E3365

ลองจินตนาการถึงหนังไซไฟที่เริ่มต้นฉากแรกด้วยพระเอกแก่ๆ ผิวหนังเหี่ยวย่น โรคภัยรุมเร้า แล้วเขาก็นอนลงบนเตียง หลับไป ร่างกายค่อยๆ หดเล็กลง ทันใดนั้น เขาก็กลายร่างย้อนวัยกลายเป็นเด็กน้อย แล้วเริ่มต้นชีวิตใหม่!

สำหรับมนุษย์ นี่อาจดูเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ที่ห่างไกลจากความเป็นไปได้ แต่สำหรับแมงกะพรุน… นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง!!

ในปี 2011 นักวิจัยทางทะเลคนหนึ่งเก็บตัวอย่างแมงกะพรุนพระจันทร์ (Aurelia spp.) ตัวหนึ่งมาเลี้ยงในห้องแล็บ เวลาผ่านไปจนแมงกะพรุนตัวนั้นเริ่มแก่ตัวและใกล้ตาย แต่แทนที่จะทิ้ง เขากลับย้ายมันไปไว้ในอีกตู้หนึ่ง ด้วยความคิดแค่ว่า เผื่อจะมีอะไรน่าสนใจ… แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็เหนือความคาดหมายสุดๆ

Schematic life cycle of Aurelia.

Schematic life cycle of Aurelia.

ในตู้ที่ซากแมงกะพรุนแก่ๆ จมลงสู่พื้น กลับปรากฏหน่อของ Polyp (วัยเด็กของแมงกะพรุน) งอกออกมา เปรียบได้กับเห็นตัวหนอนชินเมโจได๋ งอกออกมาซากผีเสื้อ! การย้อนวัยนี้นอกจากเกิดเมื่อแมงกะพรุนมีอายุมากแล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นเมื่อมันเจอภาวะไม่เหมาะสม เช่น อาหารไม่พอ หรือในตู้แออัด แมงกะพรุนบางส่วนจะค่อยๆ จมลงสู่พื้น ลำตัวหดเล็กลง อวัยวะภายในสลายไป แล้วสักพัก หน่อ Polyp ก็จะงอกฟื้นขึ้นมาจากความตาย… ใช้ชีวิตและขยายพันธุ์ต่อไป!

ภาพ: https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0145314

ความสามารถนี้ ไม่ได้จำกัดแค่แมงกะพรุนพระจันทร์เท่านั้น แต่แมงกะพรุนอีกหลายชนิด เช่น Chrysaora hysoscellia, Rhizostoma pulmo, Turritopsis nutricula ฯลฯ ก็มีบันทึกไว้ว่าสามารถย้อนวัยจากระยะ Ephyra (วัยรุ่นของแมงกะพรุน) กลับไปสู่ระยะ Polyp ได้เช่นกัน

แต่ที่ต้องยกให้เป็นอันดับหนึ่งและเป็นเทพแห่งการย้อนวัยโดยแท้ ก็คือ ‘แมงกะพรุนอมตะ’ (Immortal Jellyfish) (Turritopsis dorhnii) ที่สามารถย้อนกลับไปกลับมาระหว่าง Medusa – Polyp ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ซึ่งเหตุผลเดียวที่มันไม่ลอยอยู่เต็มทะเลก็คือ ถูกกินนั่นเอง

อ้างอิง

เป็นตอนที่ 17 ใน 17 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนสุดว้าวแห่งท้องทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Praya dubia
หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Hydrozoa >> Order Siphonophorae
สถานที่พบ : น้ำลึกทั่วโลก

อีกหนึ่งญาติของแมงกะพรุนที่เรียกว่า ‘ไซโฟโนฟอร์’ และสายพันธุ์นี้คือผู้ครองตำแหน่ง ‘สัตว์ที่ยาวที่สุดในท้องทะเล’ ด้วยความยาวที่สามารถยาวได้ถึง 45 เมตร!! ยาวยิ่งกว่าวาฬสีน้ำเงิน

นางอาศัยอยู่ในทะเลลึกกว่า 300 เมตร สามารถเรืองแสงได้ ใช้หนวดที่ยาวเฟื้อยจับปลาและครัสเตเชียน (กุ้ง ปู แอมฟิพอด) เป็นอาหาร ชื่อภาษาละตินของมันแปลว่า Doubted Prayer

ภาพ : https://thezt2roundtable.com/siphonophora-giant-siphonophore-t16632.html

เป็นตอนที่ 16 ใน 17 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนสุดว้าวแห่งท้องทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pleurobrachia pileus
หมวดหมู่ : Phylum Ctenophora >> Class Tentaculata
สถานที่พบ : มหาสมุทรแอตแลนติก

นี่ไม่ใช่แมงกะพรุน แต่เป็นหวีวุ้นผู้ไม่มีพิษมีภัย เนื่องจากเรื่องราวเธอน่าสนใจ เลยขอเอามาเล่ารวมไว้ด้วยแล้วกัน

หวีวุ้นชนิดนี้ มีชื่อว่า ‘กูสเบอร์รีทะเล’ มันมีหนวดยาวๆ 2 หนวด แต่ละหนวดจะมีซี่ขน ซึ่งตรงปลายจะมีตุ้มเหนียวๆ รอให้เหยื่อมาติด คล้ายที่ดักแมลงวัน… เมื่อดักเหยื่อได้ปุ๊บ สาวเหยื่อขึ้นมา แต่ปัญหาชีวิตคือ ปากอยู่ด้านบน แต่รูหนวดดันอยู่ด้านล่าง จะกินยังไงดีล่ะทีนี้ ?!?

วิธีแก้ปัญหา นางก็ ‘เล่นใหญ่’ โดยการตีลังกาหมุนตัวอย่างรวดเร็วมางับอาหารเข้าปากกิน / จบ

เป็นตอนที่ 15 ใน 17 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนสุดว้าวแห่งท้องทะเล

ชื่ออื่นๆ : แมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส, แมงกะพรุนหัวขวด*, แมงกะพรุนไฟขวดเขียว*, Blue Bottle*
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Physalia physalis
หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Hydrozoa >> Order Siphonophorae
สถานที่พบ : เขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก

พวกนี้ไม่เชิงเป็นแมงกะพรุน ถ้าเรียกให้ถูก พวกมันคือ ‘ไซโฟโนฟอร์’

ขอตั้งฉายาให้พวกเธอว่า ‘สวยสยอง นักล่องเรือใบ’ พวกเธอจะล่องลอยอยู่ที่ผิวน้ำ เดินทางไปตามแต่กระแสลมและคลื่นจะพาไป โดยมีกระเปาะพองลมทำหน้าที่เหมือนใบเรือ ลำตัวใสแกมฟ้า ขอบสีชมพูสวยงาม… แต่โปรดอย่าประมาท! เพราะพวกมันมีพิษร้ายแรงมาก แถมบางทีหนวดพิษก็ยาวได้ถึง 30 เมตร ซึ่งจะดักปลาเป็นอาหารแล้วสาวขึ้นมากิน !

* ในอดีตคือชนิด Physalia utriculus แต่ปัจจุบันถูกจัดให้เป็นชนิดเดียวกันกับ Physalia physalis (อ้างอิง: www.marinespecies.org)

Portuguese Man O' War, Miami Beach

Portuguese Man O’ War, Miami Beach, March 2008

Irukandji Jellyfish
เป็นตอนที่ 14 ใน 17 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนสุดว้าวแห่งท้องทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Carukia barnesi
หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Cubozoa >> Order Carybdeida
สถานที่พบ : ชายฝั่งทางเหนือของออสเตรเลีย

นี่คือหนึ่งในสายพันธุ์แมงกะพรุนกล่องที่น่ากลัวที่สุด ด้วย 3 เหตุผลคือ

  • หนึ่ง มีขนาดที่เล็กมากราวเม็ดลำไย แถมตัวใสๆ จนแทบมองไม่เห็นเมื่ออยู่ในน้ำ แต่หนวดยาวได้ตั้งแต่ไม่กี่เซนติเมตรไปจนถึง 1 เมตร
  • สอง พิษร้ายแรงกว่างูเห่า ทำให้คนตายได้ ถึงขนาดมีชื่อเฉพาะของกลุ่มอาการที่โดนพิษพวกนี้ว่า ‘กลุ่มอาการอิรุคันจิ’ ซึ่งมาจากชื่อของชนเผ่าพื้นเมืองออสเตรเลีย ที่ในอดีตเคยได้รับบาดเจ็บจากแมงกะพรุนชนิดนี้เป็นจำนวนมาก
  • และความน่ากลัวสุดท้ายคือ เข็มพิษไม่ได้อยู่แค่ที่หนวดเท่านั้น แต่ยังมีเข็มพิษที่ร่ม (Bell) ด้วย

Irukandji jellyfish, Queensland, Australia

ข้อมูล:

Australian Box Jellyfish or Sea Wasp (Chironex fleckeri)
เป็นตอนที่ 13 ใน 17 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนสุดว้าวแห่งท้องทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chironex fleckeri
หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Cubozoa >> Order Chirodropida
สถานที่พบ : ชายฝั่งด้านเหนือของออสเตรเลีย หมู่เกาะฝั่งตะวันออกของอินโดนีเซีย

นี่คือสุดยอดแชมเปี้ยนแห่งอาณาจักรสัตว์ด้านความร้ายแรงของพิษ บางตัวมีหนวดมากถึง 60 หนวด หดสั้นเพียง 15 เซนติเมตรยามไม่ใช้งาน และยืดยาวได้ถึง 3 เมตรยามออกล่าเหยื่อ พวกมันสามารถว่ายน้ำในที่ตื้นและลากหนวดไปกับพื้นทรายเพื่อดักเหยื่อได้ ไม่ต่างอะไรจากชาวประมงลากอวน พวกมันยังสามารถตรวจจับความเคลื่อนไหว

เซลล์รับแสงของมันก็ไม่ธรรมดา มันมีตาถึง 24 ตา เห็นสีและภาพได้ แถมพวกมันสามารถจดจำแลนด์มาร์กต่างๆ เช่น แนวป่าชายเลน เพื่อเข้าไปหาอาหารได้ด้วย

Chironex fleckeri เป็นแมงกะพรุนกล่องที่ใหญ่ที่สุด และมีหนวดมากที่สุด ในบรรดาแมงกะพรุนกล่องด้วยกัน มันมีชื่อสามัญว่า Australian box jellyfish หรือชื่อเล่น Sea wasp (แปลว่า แตนทะเล) แมงกะพรุนชนิดนี้นอนหลับในเวลากลางคืนที่พื้นทะเล โดยที่นักวิทยาศาสตร์ยังคงไม่เข้าใจพฤติกรรมนี้

ถิ่นที่พบคือมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ ตั้งแต่ตอนเหนือของเวียดนามไปจนถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รวมถึงอ่าวไทย แต่ไม่ถึงทะเลอันดามัน ยังดีที่พวกมันไม่ค่อยชอบอยู่ในแนวปะการังหรือพื้นที่ที่มีหญ้าทะเลและสาหร่ายทะเล นอกจากหลงเข้ามาเป็นครั้งคราวเท่านั้น

อ้างอิง:

เป็นตอนที่ 12 ใน 17 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนสุดว้าวแห่งท้องทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bathykorus bouilloni
หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Hydrozoa >> Order Narcomedusae
สถานที่พบ : น้ำลึกแถบอาร์กติก

(เพลงมา… ตึง ตึง ตึง ตึ่งตึ้งตึง ตึ่งตึ้งตึง) ณ น้ำลึกเย็นยะเยือกและมืดมิดในทะเลแถบอาร์กติก มีแมงกะพรุนชนิดหนึ่งได้ฉายาว่า ‘ดาร์ธเวเดอร์’ แห่งท้องทะเลลึก ด้วยหน้าตาที่เหมือนกับตัวร้ายในภาพยนตร์เรื่อง Star Wars

แมงกะพรุนชนิดนี้เพิ่งถูกค้นพบเมื่อปี 2002 และมันก็มีด้านมืดสมชื่อ นั่นคือหลายชนิดใน Order นี้ จะทำตัวเป็นปรสิตในร่างแม่ตัวเอง! คือใช้ชีวิตเกาะติดกับร่างกายแม่ ดูดซึมสารอาหาร และเติบโตอยู่ภายในนั้น หรือบางครั้งก็อาจสละยานแม่ แล้วไปยึดยาน… เอ๊ย… ยึดร่างของแมงกะพรุนชนิดอื่นๆ เพื่ออยู่อาศัยเป็นปรสิตได้ด้วย

ข้อมูล: https://www.nature.com/scitable/blog/creature-cast/narcomedusae
ภาพ: NOAA Ocean Exploration and Research

เป็นตอนที่ 11 ใน 17 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนสุดว้าวแห่งท้องทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Olindias formosus
หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Hydrozoa >> Order Limnomedusae
สถานที่พบ : แปซิฟิกตะวันตก

ในความสวยงามและชื่อที่แสนละมุนอ่อนหวาน… นางคือนักล่า! ยามกลางวันนางจะใช้ชีวิตซุ่มตัวที่พื้นทะเล บางทีก็ซ่อนตัวท่ามกลางดงสาหร่าย โบกสะบัดหนวดไปมาเพื่อล่อปลา โดยบริเวณก่อนถึงปลายหนวดจะมีสีเขียวเรืองแสงเป็นเหยื่อล่อด้วย ยามกลางคืนนางจะลอยตัวขึ้นกลางน้ำตามหาเหยื่อคือปลาเล็กปลาน้อยที่ถูกล่อลวงเข้ามา

นักวิทยาศาสตร์เคยทดลองโดยจับปลา Rockfish มาใส่ในตู้ แล้วโชว์แสงประเภทต่างๆ ให้ปลาเห็น ปรากฏว่าเหล่าปลาจะชอบเข้าหาแสงเรืองสีเขียวจากหนวดแมงกะพรุนภายใต้แสงสีฟ้ามากที่สุด ซึ่งพวกเขาสันนิษฐานว่า เป็นเพราะสีเขียวเรืองแสงนั้น มีความคล้ายกับคลอโรฟิลล์ในพืช ทำให้ปลากินพืชสับสนนึกว่าเป็นอาหาร ส่วนปลากินเนื้อก็จะนึกว่าเป็นพืชที่เรืองแสงในท้องของปลาอื่นอีกที ทำให้เจ้าหมวกดอกไม้ใช้แสงนี้ในการหลอกปลามาติดกับได้… ร้ายนัก!

หนวดของนางขดเป็นเกลียวยามไม่ใช้งาน ใครบางคนเรียกมันว่าหนวดมะกะโรนี ต่อมพิษสามารถพิฆาตปลาน้อยได้ในเวลาไม่กี่วินาที ส่วนผลต่อมนุษย์นั้น แม้ไม่ถึงขนาดทำให้ตาย แต่ก็ทำให้เจ็บปวดทรมานและเป็นผื่นแดงเช่นกัน

แต่เดี๋ยวก่อน นางไม่ใช่แมงกะพรุนแท้ (true jellyfish) แต่อยู่ในกลุ่ม Hydrozoa กลุ่มเดียวกันกับพวกไฮดรอยด์และ Portuguese Man-o-War นะจ๊ะ

Flower Hat Jelly

ข้อมูล: