เป็นตอนที่ 11 ใน 17 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนสุดว้าวแห่งท้องทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Olindias formosus
หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Hydrozoa >> Order Limnomedusae
สถานที่พบ : แปซิฟิกตะวันตก

ในความสวยงามและชื่อที่แสนละมุนอ่อนหวาน… นางคือนักล่า! ยามกลางวันนางจะใช้ชีวิตซุ่มตัวที่พื้นทะเล บางทีก็ซ่อนตัวท่ามกลางดงสาหร่าย โบกสะบัดหนวดไปมาเพื่อล่อปลา โดยบริเวณก่อนถึงปลายหนวดจะมีสีเขียวเรืองแสงเป็นเหยื่อล่อด้วย ยามกลางคืนนางจะลอยตัวขึ้นกลางน้ำตามหาเหยื่อคือปลาเล็กปลาน้อยที่ถูกล่อลวงเข้ามา

นักวิทยาศาสตร์เคยทดลองโดยจับปลา Rockfish มาใส่ในตู้ แล้วโชว์แสงประเภทต่างๆ ให้ปลาเห็น ปรากฏว่าเหล่าปลาจะชอบเข้าหาแสงเรืองสีเขียวจากหนวดแมงกะพรุนภายใต้แสงสีฟ้ามากที่สุด ซึ่งพวกเขาสันนิษฐานว่า เป็นเพราะสีเขียวเรืองแสงนั้น มีความคล้ายกับคลอโรฟิลล์ในพืช ทำให้ปลากินพืชสับสนนึกว่าเป็นอาหาร ส่วนปลากินเนื้อก็จะนึกว่าเป็นพืชที่เรืองแสงในท้องของปลาอื่นอีกที ทำให้เจ้าหมวกดอกไม้ใช้แสงนี้ในการหลอกปลามาติดกับได้… ร้ายนัก!

หนวดของนางขดเป็นเกลียวยามไม่ใช้งาน ใครบางคนเรียกมันว่าหนวดมะกะโรนี ต่อมพิษสามารถพิฆาตปลาน้อยได้ในเวลาไม่กี่วินาที ส่วนผลต่อมนุษย์นั้น แม้ไม่ถึงขนาดทำให้ตาย แต่ก็ทำให้เจ็บปวดทรมานและเป็นผื่นแดงเช่นกัน

แต่เดี๋ยวก่อน นางไม่ใช่แมงกะพรุนแท้ (true jellyfish) แต่อยู่ในกลุ่ม Hydrozoa กลุ่มเดียวกันกับพวกไฮดรอยด์และ Portuguese Man-o-War นะจ๊ะ

Flower Hat Jelly

ข้อมูล:

เป็นตอนที่ 12 ใน 17 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนสุดว้าวแห่งท้องทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bathykorus bouilloni
หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Hydrozoa >> Order Narcomedusae
สถานที่พบ : น้ำลึกแถบอาร์กติก

(เพลงมา… ตึง ตึง ตึง ตึ่งตึ้งตึง ตึ่งตึ้งตึง) ณ น้ำลึกเย็นยะเยือกและมืดมิดในทะเลแถบอาร์กติก มีแมงกะพรุนชนิดหนึ่งได้ฉายาว่า ‘ดาร์ธเวเดอร์’ แห่งท้องทะเลลึก ด้วยหน้าตาที่เหมือนกับตัวร้ายในภาพยนตร์เรื่อง Star Wars

แมงกะพรุนชนิดนี้เพิ่งถูกค้นพบเมื่อปี 2002 และมันก็มีด้านมืดสมชื่อ นั่นคือหลายชนิดใน Order นี้ จะทำตัวเป็นปรสิตในร่างแม่ตัวเอง! คือใช้ชีวิตเกาะติดกับร่างกายแม่ ดูดซึมสารอาหาร และเติบโตอยู่ภายในนั้น หรือบางครั้งก็อาจสละยานแม่ แล้วไปยึดยาน… เอ๊ย… ยึดร่างของแมงกะพรุนชนิดอื่นๆ เพื่ออยู่อาศัยเป็นปรสิตได้ด้วย

ข้อมูล: https://www.nature.com/scitable/blog/creature-cast/narcomedusae
ภาพ: NOAA Ocean Exploration and Research

Australian Box Jellyfish or Sea Wasp (Chironex fleckeri)
เป็นตอนที่ 13 ใน 17 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนสุดว้าวแห่งท้องทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chironex fleckeri
หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Cubozoa >> Order Chirodropida
สถานที่พบ : ชายฝั่งด้านเหนือของออสเตรเลีย หมู่เกาะฝั่งตะวันออกของอินโดนีเซีย

นี่คือสุดยอดแชมเปี้ยนแห่งอาณาจักรสัตว์ด้านความร้ายแรงของพิษ บางตัวมีหนวดมากถึง 60 หนวด หดสั้นเพียง 15 เซนติเมตรยามไม่ใช้งาน และยืดยาวได้ถึง 3 เมตรยามออกล่าเหยื่อ พวกมันสามารถว่ายน้ำในที่ตื้นและลากหนวดไปกับพื้นทรายเพื่อดักเหยื่อได้ ไม่ต่างอะไรจากชาวประมงลากอวน พวกมันยังสามารถตรวจจับความเคลื่อนไหว

เซลล์รับแสงของมันก็ไม่ธรรมดา มันมีตาถึง 24 ตา เห็นสีและภาพได้ แถมพวกมันสามารถจดจำแลนด์มาร์กต่างๆ เช่น แนวป่าชายเลน เพื่อเข้าไปหาอาหารได้ด้วย

Chironex fleckeri เป็นแมงกะพรุนกล่องที่ใหญ่ที่สุด และมีหนวดมากที่สุด ในบรรดาแมงกะพรุนกล่องด้วยกัน มันมีชื่อสามัญว่า Australian box jellyfish หรือชื่อเล่น Sea wasp (แปลว่า แตนทะเล) แมงกะพรุนชนิดนี้นอนหลับในเวลากลางคืนที่พื้นทะเล โดยที่นักวิทยาศาสตร์ยังคงไม่เข้าใจพฤติกรรมนี้

ถิ่นที่พบคือมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ ตั้งแต่ตอนเหนือของเวียดนามไปจนถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รวมถึงอ่าวไทย แต่ไม่ถึงทะเลอันดามัน ยังดีที่พวกมันไม่ค่อยชอบอยู่ในแนวปะการังหรือพื้นที่ที่มีหญ้าทะเลและสาหร่ายทะเล นอกจากหลงเข้ามาเป็นครั้งคราวเท่านั้น

อ้างอิง:

Irukandji Jellyfish
เป็นตอนที่ 14 ใน 17 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนสุดว้าวแห่งท้องทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Carukia barnesi
หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Cubozoa >> Order Carybdeida
สถานที่พบ : ชายฝั่งทางเหนือของออสเตรเลีย

นี่คือหนึ่งในสายพันธุ์แมงกะพรุนกล่องที่น่ากลัวที่สุด ด้วย 3 เหตุผลคือ

  • หนึ่ง มีขนาดที่เล็กมากราวเม็ดลำไย แถมตัวใสๆ จนแทบมองไม่เห็นเมื่ออยู่ในน้ำ แต่หนวดยาวได้ตั้งแต่ไม่กี่เซนติเมตรไปจนถึง 1 เมตร
  • สอง พิษร้ายแรงกว่างูเห่า ทำให้คนตายได้ ถึงขนาดมีชื่อเฉพาะของกลุ่มอาการที่โดนพิษพวกนี้ว่า ‘กลุ่มอาการอิรุคันจิ’ ซึ่งมาจากชื่อของชนเผ่าพื้นเมืองออสเตรเลีย ที่ในอดีตเคยได้รับบาดเจ็บจากแมงกะพรุนชนิดนี้เป็นจำนวนมาก
  • และความน่ากลัวสุดท้ายคือ เข็มพิษไม่ได้อยู่แค่ที่หนวดเท่านั้น แต่ยังมีเข็มพิษที่ร่ม (Bell) ด้วย

Irukandji jellyfish, Queensland, Australia

ข้อมูล:

เป็นตอนที่ 15 ใน 17 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนสุดว้าวแห่งท้องทะเล

ชื่ออื่นๆ : แมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส, แมงกะพรุนหัวขวด*, แมงกะพรุนไฟขวดเขียว*, Blue Bottle*
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Physalia physalis
หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Hydrozoa >> Order Siphonophorae
สถานที่พบ : เขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก

พวกนี้ไม่เชิงเป็นแมงกะพรุน ถ้าเรียกให้ถูก พวกมันคือ ‘ไซโฟโนฟอร์’

ขอตั้งฉายาให้พวกเธอว่า ‘สวยสยอง นักล่องเรือใบ’ พวกเธอจะล่องลอยอยู่ที่ผิวน้ำ เดินทางไปตามแต่กระแสลมและคลื่นจะพาไป โดยมีกระเปาะพองลมทำหน้าที่เหมือนใบเรือ ลำตัวใสแกมฟ้า ขอบสีชมพูสวยงาม… แต่โปรดอย่าประมาท! เพราะพวกมันมีพิษร้ายแรงมาก แถมบางทีหนวดพิษก็ยาวได้ถึง 30 เมตร ซึ่งจะดักปลาเป็นอาหารแล้วสาวขึ้นมากิน !

* ในอดีตคือชนิด Physalia utriculus แต่ปัจจุบันถูกจัดให้เป็นชนิดเดียวกันกับ Physalia physalis (อ้างอิง: www.marinespecies.org)

Portuguese Man O' War, Miami Beach

Portuguese Man O’ War, Miami Beach, March 2008

เป็นตอนที่ 16 ใน 17 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนสุดว้าวแห่งท้องทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pleurobrachia pileus
หมวดหมู่ : Phylum Ctenophora >> Class Tentaculata
สถานที่พบ : มหาสมุทรแอตแลนติก

นี่ไม่ใช่แมงกะพรุน แต่เป็นหวีวุ้นผู้ไม่มีพิษมีภัย เนื่องจากเรื่องราวเธอน่าสนใจ เลยขอเอามาเล่ารวมไว้ด้วยแล้วกัน

หวีวุ้นชนิดนี้ มีชื่อว่า ‘กูสเบอร์รีทะเล’ มันมีหนวดยาวๆ 2 หนวด แต่ละหนวดจะมีซี่ขน ซึ่งตรงปลายจะมีตุ้มเหนียวๆ รอให้เหยื่อมาติด คล้ายที่ดักแมลงวัน… เมื่อดักเหยื่อได้ปุ๊บ สาวเหยื่อขึ้นมา แต่ปัญหาชีวิตคือ ปากอยู่ด้านบน แต่รูหนวดดันอยู่ด้านล่าง จะกินยังไงดีล่ะทีนี้ ?!?

วิธีแก้ปัญหา นางก็ ‘เล่นใหญ่’ โดยการตีลังกาหมุนตัวอย่างรวดเร็วมางับอาหารเข้าปากกิน / จบ

เป็นตอนที่ 17 ใน 17 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนสุดว้าวแห่งท้องทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Praya dubia
หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Hydrozoa >> Order Siphonophorae
สถานที่พบ : น้ำลึกทั่วโลก

อีกหนึ่งญาติของแมงกะพรุนที่เรียกว่า ‘ไซโฟโนฟอร์’ และสายพันธุ์นี้คือผู้ครองตำแหน่ง ‘สัตว์ที่ยาวที่สุดในท้องทะเล’ ด้วยความยาวที่สามารถยาวได้ถึง 45 เมตร!! ยาวยิ่งกว่าวาฬสีน้ำเงิน

นางอาศัยอยู่ในทะเลลึกกว่า 300 เมตร สามารถเรืองแสงได้ ใช้หนวดที่ยาวเฟื้อยจับปลาและครัสเตเชียน (กุ้ง ปู แอมฟิพอด) เป็นอาหาร ชื่อภาษาละตินของมันแปลว่า Doubted Prayer

ภาพ : https://thezt2roundtable.com/siphonophora-giant-siphonophore-t16632.html