เป็นตอนที่ 2 ใน 6 ตอนของเรื่อง ร่างกายมหัศจรรย์ของน้องเยลลี่

เราทุกคนคงคุ้นเคยกันดีกับลำตัวใสๆ ของแมงกะพรุน… แต่เคยสงสัยไหมว่า มีอะไรอยู่ข้างในวุ้นใสนั้น?

เนื้อเยื่อเจลาติน

แมงกะพรุนประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 2 ชั้น ตรงกลางระหว่างชั้นทั้งสอง คือสารที่มีลักษณะคล้ายวุ้น เรียก Mesoglea ซึ่งประกอบด้วยน้ำถึง 95% ทำให้มันมีความหนาแน่นใกล้เคียงกับน้ำ จึงลอยตัวในน้ำได้อย่างไม่ต้องใช้พลังงานอะไรมากมาย

Anatomy picture of a true jellyfish

Anatomy picture of a true jellyfish

ระบบย่อยอาหาร

บอกได้เลยว่าเป็นระบบที่เราไม่อยากเลียนแบบแน่ๆ เพราะนี่เป็นระบบย่อยอาหารขั้นพื้นฐาน คือมีโพรง (Gastrovascular Cavity) ไว้ย่อย และรูเปิดหนึ่งรูที่ทำหน้าที่เป็นทั้ง ‘ปาก’ และ ‘ตูด’ ในรูเดียวกัน กินทางไหน ก็ขับถ่ายออกทางนั้นจ้า… อึ๋ยยย~~

อวัยวะสืบพันธุ์ (Gonad)

ส่วนใหญ่จะมีเพศเดียวในหนึ่งตัว ยกเว้นบางชนิดที่มี 2 เพศในตัวเดียว

ในกลุ่มแมงกะพรุนแท้ (Scyphozoa) ต่อมเพศของมันคือสิ่งที่เราเห็นเป็นกลีบๆ เมื่อมองจากด้านบนของร่ม

ส่วนแมงกะพรุนกล่อง ต่อมเพศจะอยู่ตามแนวเส้นกลางลำตัว 4 ด้าน

ระบบประสาท

แม้จะไม่มีสมอง แต่แมงกะพรุนก็รับรู้โลกได้ผ่านทางเส้นประสาทที่กระจายอยู่ทั่วตัว โดยมีจุดศูนย์รวมของอวัยวะรับสัมผัสที่เรียกว่า Rhopalium กระจายอยู่รอบๆ ขอบร่ม (พหูพจน์ = Rhopalia)

The visual system of the cubozoan

The visual system of the cubozoan

ในแต่ละ Rhopalium จะประกอบด้วยเซลล์รับสัมผัสต่างๆ ดังนี้

  • เซลล์รับแสง (Eyespots) แมงกะพรุนพระจันทร์จะมี 2 eyespots ในแต่ละ Rhopalium ซึ่งแม้จะยังไม่เห็นเป็นภาพ แต่ก็พอรับรู้ความมืดความสว่างได้
    ในขณะที่แมงกะพรุนกล่อง จะมีถึง 6 ตา ในแต่ละ Rhopalium ทำให้มันมีตารวมทั้งหมด 24 ตา !! แถมเซลล์เหล่านี้ก็พัฒนามาก จนมีข้อสันนิษฐานว่ามันสามารถเห็นภาพและสีได้ รวมถึงบางชนิดสามารถจดจำภาพแนวป่าชายเลนและว่ายเข้าหาเพื่อไปกินอาหารในนั้นได้
  • ระบบรักษาสมดุลร่างกาย (Statoliths) ทำหน้าที่คล้ายหูชั้นในของเรา คือรักษาสมดุลการเคลื่อนไหว
  • อื่นๆ : แมงกะพรุนบางชนิด จะมีมิเตอร์วัดความเค็มของน้ำทะเล เพื่อหลีกหนีช่วงน้ำจืดไหลลงอ่าวเยอะๆ ได้ บางชนิดสามารถรับรู้ความสั่นสะเทือน การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ หรือสารเคมีรอบๆ ตัวได้ ซึ่งทำให้มันสามารถแยกแยะว่า แมงกะพรุนข้างๆ มัน คือเพื่อนร่วมสายพันธุ์หรือศัตรู
ข้อมูล
  • https://www.juliberwald.com/blog/a-jellyfish-anatomy-primer-by-popular-demand/
  • หนังสือ Jellyfish: A Natural History (ผู้เขียน Lisa-ann Gershwin)
  • https://www.cell.com/current-biology/pdf/S0960-9822(13)00359-X.pdf
  • http://cronodon.com/BioTech/Jellyfish.html
ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สวยใสไร้สมองเข็มพิษระบบอัตโนมัติ >>