เมื่อ NASA ส่งแมงกะพรุนไปอวกาศ

เป็นตอนที่ 6 ใน 6 ตอนของเรื่อง ร่างกายมหัศจรรย์ของน้องเยลลี่

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 1991 กระสวยอวกาศโคลัมเบียพุ่งทะยานขึ้นสู่อวกาศ โดยมีแมงกะพรุนพระจันทร์ (Moon Jelly, Aurelia aurita) ในระยะ Polyp และระยะว่ายน้ำขั้นเริ่มต้น (Ephyra) จำนวน 2,478 ตัว ถูกส่งขึ้นไปด้วย

แมงกะพรุนอวกาศกลุ่มนี้ คือตัวแทนของการทดลองเพื่อที่จะตอบคำถามว่า “สภาวะเกือบไร้แรงโน้มถ่วง (microgravity) มีผลอย่างไรต่อพัฒนาการของสิ่งมีชีวิต” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรู้ก่อนที่เราจะส่งมนุษย์ไปอวกาศนานๆ รวมทั้งปัญหาสำคัญที่ว่า เราสามารถมีลูกในอวกาศได้หรือได้ เด็กจะเติบโตอย่างปกติไหม แล้วจะมีปัญหาอะไรหรือเปล่าหากกลับมาบนโลก ?

แม้ว่าแมงกะพรุนจะต่างจากพวกเราอย่างมาก แต่พวกมันมีสิ่งหนึ่งที่คล้ายเรา นั่นคือระบบตรวจวัดแรงโน้มถ่วง (gravity receptor) แต่เป็นในเวอร์ชันที่เรียบง่ายกว่ามาก มันคือระบบที่ทำให้แมงกะพรุนบอกความแตกต่างระหว่างด้านบนกับด้านล่างได้ โดยมันจะมีผลึกแคลเซียมซัลเฟต (Statoliths) ในกระเปาะรอบๆ ขอบร่ม (bell margin) ซึ่งพอเวลามันเอียงตัว ผลึกนี้ก็จะกลิ้ง ขนที่ทำหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์ก็จะส่งสัญญาณไปยังเส้นประสาท ซึ่งคล้ายกับระบบที่อยู่ในหูชั้นในของคนเรา

กลับมาที่การทดลองแมงกะพรุนอวกาศกันต่อ การทดลองนี้เริ่มขึ้นโดยการฉีดสารเคมีกระตุ้นให้ Polyp พัฒนาเป็น Ephyra ซึ่งบางกลุ่มจะเป็น Ephyra ตั้งแต่ก่อนยานออก ส่วนอีกกลุ่มเป็นเมื่ออยู่บนอวกาศแล้ว จากนั้นพวกเขาก็จะทำการบันทึกภาพและข้อมูลต่างๆ เช่น ลักษณะภายนอก ท่าทางการว่ายน้ำ จำนวนผลึกแคลเซียมซัลเฟต เพื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่อยู่บนโลก

นอกจากนั้น พวกเขายังปล่อยให้แมงกะพรุนที่เป็นตัวเต็มวัยในอวกาศได้ขยายพันธุ์ด้วย ซึ่งทำให้ในช่วงนั้น เรามีแมงกะพรุนโคจรรอบโลกถึง 60,000 ตัว!

สิ่งที่นักวิจัยพบจากการทดลองนี้คือ พวกมันเจริญเติบโตได้อย่างปกติและว่ายน้ำได้ เพียงแต่เมื่อผ่านไปราว 9 วัน พวกที่เติบโตมาแล้วจากโลก จะสูญเสียผลึกแคลเซียมซัลเฟตไปเป็นจำนวนมาก และมีท่าว่ายแปลกๆ โดยมักว่ายวนเป็นวงกลม

และเมื่อแมงกะพรุนกลุ่มนี้กลับถึงโลก พวกบางส่วนไม่สามารถว่ายน้ำได้เหมือนเพื่อนแมงกะพรุนที่อยู่บนโลกทั่วไป เนื่องจากระบบตรวจวัดแรงโน้มถ่วงเกิดความผิดเพี้ยน… แต่ไม่นานพวกมันส่วนใหญ่ก็สามารถกลับคืนสู่การว่ายปกติได้

อ้างอิง

  • https://er.jsc.nasa.gov/seh/From_Undersea_To_Outer_Space.pdf
  • https://www.nytimes.com/2011/06/07/science/07jellyfish.html
  • https://www.youtube.com/watch?v=FvjVKAAvIn8
ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ระบบขับเคลื่อนพลังน้ำ